กลุ่มเสี่ยงที่เกิดอาการนอนกรนได้ โดยไม่เคยรู้ตัว

อาการนอนกรน

อาการนอนกรน เป็นอาการทั่วไปที่เรามักพบเป็นประจำ ไม่เกิดกับตนเอง ก็เกิดกับคนใกล้ตัว ซึ่งทำให้หลายคนมองอาการนอนกรนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว อาการนอนกรนบ่งบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ๆ และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าที่คิด

สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่าตนเองเป็นคนนอนกรนหรือเปล่า ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับสาเหตุของการนอนกรน พร้อมบอก 4 กลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการนอนกรนโดยไม่รู้ตัว

อาการนอนกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการนอนกรนเกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดการตีบแคบลงในขณะที่นอนหลับ ทำให้เวลาที่เราหายใจเข้าออกผ่านช่องแคบนี้ จะทำให้อวัยวะภายในช่องทางเดินหายใจส่วนต้นเกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้นมา ซึ่งเสียงกรนจะแตกต่างกันไปตามการสั่นของอวัยวะ เช่น หากสั่นที่เพดานอ่อนหรือลิ้นไก่จะทำให้เกิดเสียงกรนในลำคอ แต่ถ้าสั่นที่เนื้อเยื่ออ่อนด้านหลังโพรงจมูกจะทำให้เกิดเสียงกรนแบบขึ้นจมูก เป็นต้น

อาการนอนกรน

4 กลุ่มเสี่ยงอาจเกิดอาการนอนกรนระหว่างหลับ

อาการนอนกรนนั้น มีทั้งอาการนอนกรนแบบธรรมดา ไม่เป็นอันตราย ส่งผลกระทบเพียงสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่นอนร่วมห้องด้วยเท่านั้น และอาการนอนกรนที่เป็นอันตราย เพราะมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย สำหรับใครที่สงสัยว่า ตนเองเป็นคนนอนกรนระหว่างหลับหรือไม่ เราได้รวบรวม 4 กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดอาการนอนกรนระหว่างนอนหลับมาให้แล้ว ดังนี้

1. กลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจะเสี่ยงเป็นคนนอนกรนมากกว่าปกติ เพราะจะมีไขมันสะสมที่บริเวณลำคอด้านในเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ลำคอด้านบนอวบและนุ่มขึ้น เมื่อนอนหลับ เนื้อเยื่อเหล่านี้จะตกลงมาหาโคนลิ้น ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง และเกิดอาการนอนกรนในระหว่างที่นอนหลับตามมาได้

2. กลุ่มคนที่ชอบสูบบุหรี่เป็นประจำ

การสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่เป็นประจำ จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนเกิดการอักเสบและตีบแคบลง นอกจากนี้ยังทำให้เมือกในช่องคอเหนียวข้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้หายใจได้ไม่สะดวก เมื่อนอนหลับแล้วก็จะมีอาการนอนกรนตามมาได้

3. กลุ่มคนที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนที่คนนอนกรนหลายคนไม่คาดคิด โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนหลับ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังคอหอยอ่อนตัวและหย่อนลงในระหว่างที่นอนหลับ ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง อากาศผ่านเข้ามาได้ลำบาก และทำให้เกิดอาการนอนกรนนั่นเอง

4. กลุ่มผู้ที่ใช้ยานอนหลับบ่อย

ผู้ที่ใช้ยานอนหลับเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เสี่ยงเป็นคนนอนกรนโดยไม่รู้ตัว เพราะฤทธิ์ของยานอนหลับจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลาย ซึ่งรวมไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนอย่าง เพดาน ลิ้น คอ และคอหอยด้วย เมื่อเรานอนหลับกล้ามเนื้อเหล่านี้จะอ่อนตัวและหย่อนต่ำลงจนทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง ส่งผลให้เกิดการสั่นของเนื้อเยื่อขณะหายใจเข้าออก และเกิดอาการนอนกรนตามมา ดังนั้นก่อนที่จะใช้ยานอนหลับ รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนใช้ยาทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง

อาการนอนกรน

วิธีปรับพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงอาการนอนกรน

จะเห็นได้ว่า สาเหตุอาการนอนกรนในคนที่นอนกรนส่วนใหญ่จะเกิดการพฤติกรรมการใช้ชีวิตในประจำวันทั้งนั้น หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมย่อมช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้ ตัวอย่างเช่น

  • ออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดการสะสมของไขมันบริเวณลำคอด้านใน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อเยื่อที่ลำคอด้านบนหย่อนลงมาขณะนอนหลับ อีกทั้งยังช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย
  • งดการสูบบุหรี่ นอกจากบุหรี่จะทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบแล้ว ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน อย่างน้อย 4 – 5 ชั่วโมง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังคอหอยอ่อนตัวและหย่อนลงในขณะนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เพราะยานอนหลับส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนผ่อนคลายและอ่อนตัวลง จนทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ โดยอาจเปลี่ยนไปดื่มชาที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
  • ปรับท่านอนให้เหมาะสม โดยการนอนตะแคงแทนการนอนหงาย เพราะการนอนหงายจะทำให้โคนลิ้นและเพดานอ่อนพับตกไปยังผนังคอด้านหลัง และทำให้เกิดอาการนอนกรนได้ง่ายกว่าปกติ
  • ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ หรือเป็นไข้หวัด เพราะน้ำจะช่วยลดความเข้มข้นของน้ำมูกในลำคอ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น และลดอาการนอนกรนลงได้
  • ทำความสะอาดที่นอนให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น หรือไรฝุ่น ที่อาจสะสมอยู่บริเวณผ้าห่ม ปลอกหมอน หรือผ้าปูที่นอน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการภูมิแพ้ได้มาก และยังช่วยให้อาการนอนกรนในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ดีขึ้นด้วย

อาการนอนกรน

สรุปสาเหตุอาการนอนกรน

อาการนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมแล้ว แต่ยังมีอาการนอนกรนอยู่ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรน และเข้ารับการรักษานอนกรนด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ หรือใช้เครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยจัดตำแหน่งของลิ้นหรือขากรรไกรล่าง ก็จะช่วยให้อาการนอนกรนดีขึ้น บอกลาการเป็นคนนอนกรนอย่างถาวร

ทำนัดหมาย Make an appointment