อาการเหงือกบวมที่ควรพบทันตแพทย์ทันที

อาการเหงือกบวม

อาการเหงือกบวม เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ในโรคเหงือกอักเสบ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุแค่ปรับเปลี่ยนวิธีทำความสะอาดฟันและช่องปากให้เหมาะสมก็สามารถช่วยลดอาการได้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีสาเหตุเหงือกบวมหลายสาเหตุที่อาจเป็นอันตราย ทำให้เกิดเหงือกบวมเป็นตุ่มหนอง อาการปวดมาก และสูญเสียฟันตามมาได้ ซึ่งในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับ 7 อาการเหงือกบวมที่ควรไปพบทันตแพทย์ทันที หากไม่อยากสูญเสียฟัน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!

อาการเหงือกบวมสัญญาณเตือนการอักเสบ

อาการเหงือกบวม เป็นอาการที่เกิดจากเหงือกอักเสบเรื้อรัง แล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เหงือกอักเสบจนเกิดเหงือกบวมตามมา มีหลายสาเหตุ เช่น แปรงฟันไม่สะอาด ฟันผุมาก การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

ลักษณะอาการของเหงือกบวมนั้น จะมีอาการเหงือกบวมโต เนื้อเหงือกที่บวมมีสีแดงเข้มกว่าเนื้อเหงือกปกติ และทำให้เกิดอาการปวดฟัน ระคายเคือง มีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือเสียวฟันตามมาได้ นอกจากนี้ในบางรายที่เหงือกบวมเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตราย อาจพบว่า ตนเองมีอาการเหงือกบวมเป็นตุ่มหนอง มีรูเปิดของตุ่มหนอง หรือมีของเหลวลักษณะขุ่นข้นไหลออกมาจากขอบเหงือกร่วมด้วยได้

ดังนั้นผู้ที่มีอาการเหงือกบวมจะต้องรู้จักสังเกตอาการของตนเอง หากพบว่าลักษณะอาการของเหงือกบวมมีแนวโน้มที่จะเกิดจากสาเหตุเหงือกบวมที่เป็นอันตราย ควรรีบแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการเหงือกบวม

7 อาการเหงือกบวมที่ควรสังเกต

1. เหงือกบวมจากกระดูกงอก

สาเหตุเหงือกบวมจากกระดูกงอก เกิดจากร่างกายสร้างกระดูกให้หนาขึ้นเพื่อรองรับแรงบดเคี้ยวที่ไม่เท่ากัน มักพบในผู้ที่มีฟันสึกกร่อนมากและผู้ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟัน โดยตุ่มกระดูกจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจนดันเหงือกออกมา ลักษณะอาการของเหงือกบวมจากกระดูกงอก เนื้อเหงือกจะมีสีชมพูปกติ ซึ่งตุ่มกระดูกนี้อาจไม่จำเป็นต้องตัดออก หากไม่ขีดขวางการใส่ฟันปลอม หรือส่งผลกระทบต่อการทำความสะอาดช่องปาก

2. เหงือกบวมจากผลข้างเคียงของยา

การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างเหงือกบวมได้ เช่น ยาต้านการชัก (Anticonvulsants) ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) หรือยาต้านแคลเซียม (Calcium antagonists) โดยลักษณะของอาการเหงือกบวมที่เกิดจากผลข้างเคียงของยา เนื้อเหงือกจะแน่น มีสีชมพูปกติ แต่ถ้าทำความสะอาดช่องปากไม่ดี อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่งเหงือกบวมที่เกิดจากสาเหตุนี้สามารถรักษาได้ด้วยการหยุดใช้ยาและขูดหินปูน โดยอาการเหงือกบวมจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเหงือกบวมยังไม่หาย ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับศัลยกรรมตัดแต่งเหงือก

3. เหงือกบวมจากโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์

เหงือกบวมที่เกิดจากโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์มักมีสาเหตุมาจากการรักษาสุขอนามัยช่องปากไม่ดี แปรงฟันไม่สะอาด จนทำให้เกินหินปูนสะสมเป็นจำนวนมาก และทำให้เหงือกอักเสบตามมา โดยเหงือกบวมจากโรคเหงือกอักเสบ จะมีอาการเลือดออกขณะแปรงฟัน มีกลิ่นปาก และเสียวฟันร่วมด้วย

ในขณะที่โรคปริทันต์จะเป็นโรคเหงือกอักเสบในระดับที่รุนแรงกว่า นอกจากมีหินปูนสะสมเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีเชื้อลุกลามไปทำลายกระดูกรองรับรากฟัน ทำให้มีอาการฟันโยก ฟันขยับบานออก หรือยื่นยาวผิดปกติ หรือเหงือกบวมเป็นตุ่มหนอง หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนและเกลารากฟันเพื่อกำจัดหินปูนที่ทำให้ระคายเคืองออก ร่วมกับการดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดีอยู่เสมอ

4. เหงือกบวมจากการระคายเคืองเป็นเวลานาน

ในกรณีที่เหงือกได้รับการระคายเคืองติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็สามารถทำให้เกิดอาการเหงือกบวมได้เช่นกัน โดยเหงือกบวมที่เกิดจากระคายเคืองจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เนื้อเหงือกมีสีชมพูปกติ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดออก และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เหงือกเกิดการระคายเคือง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาสีฟันที่มีสารทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น

5. เหงือกบวมเป็นตุ่มหนองจากการติดเชื้อ

เหงือกบวมเป็นตุ่มหนอง เป็นอาการเหงือกบวมที่เกิดจากฟันผุลึกมากจนไปถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้ฟันตายและมีหนองสะสมในตัวฟันมากจนแตกออกมาในช่องปาก หากมีอาการเหล่านี้จะต้องไปพบทันตแพทย์ทันที ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการรักษาคลองรากฟันและใส่ฟันปลอมทดแทน

6. เหงือกบวมจากเนื้องอกในกลุ่มหญิงมีครรภ์

ในผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีความไวต่อการระคายเคืองจากหินปูนมากกว่าปกติ หากรักษาสุขอนามัยช่องปากไม่ดีอาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกในช่องปากจนทำให้เกิดอาการเหงือกบวมตามมาได้ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดออก และขูดหินปูนให้สะอาด

7. เหงือกบวมจากก้อนเนื้อร้ายของโรคมะเร็ง

ก้อนเนื้อร้ายจากโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของเหงือกบวมที่อันตรายที่สุด โดยก้อนเนื้อจะมีลักษณะเหมือนดอกกะหล่ำ มีอาการบวม และมีการทำลายของเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว ในบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย หากพบก้อนเนื้อในลักษณะนี้ จะต้องรีบไปพบทันตแพทย์ทันที

อาการเหงือกบวม

วิธีการบรรเทาอาการเหงือกบวมเบื้องต้นก่อนเข้ารับการรักษา

เมื่อเกิดอาการเหงือกบวมแล้ว ควรสังเกตลักษณะอาการของเหงือกบวมก่อน หากไม่เข้าข่ายเหงือกบวมที่เกิดจากสาเหตุอันตราย ก็สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นเพื่อสังเกตอาการไปก่อนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • แปรงฟันให้สะอาด และใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟันทุกครั้ง
  • หมั่นกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดคราบแบคทีเรียและเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรืออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เนื่องจากมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเลือกออกตามไรฟัน
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาสีฟันที่มีสารทำความสะอาดรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากอาการเหงือกบวมไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้าปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และควรเข้ารับการขูดหินปูนเป็นประจำทุกปี เพราะหินปูนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเหงือกบวม ฟันผุ และโรคฟันอื่น ๆ อีกมากมาย

อาการเหงือกบวม

สรุปอาการเหงือกบวมที่ไม่ควรมองข้าม

อาการเหงือกบวมเป็นหนึ่งในอาการของโรคเหงือกอักเสบที่ไม่ควรมองข้าม หากมีอาการเหงือกบวมแล้วไม่รักษา ปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจทำให้อาการเหงือกบวมรุนแรงมากจนทำให้เกิดการติดเชื้อ เหงือกบวมเป็นตุ่มหนอง อาการปวด หรือสูญเสียฟันได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเหงือกบวมแล้ว จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของเหงือกบวม สำหรับผู้ที่มีปัญหาเหงือกบวมสามารถนัดหมายวันและเวลาเพื่อเข้ารับคำปรึกษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเหงือกและฟัน จากศูนย์ทันตกรรมทันตกิจได้เลย

ทำนัดหมาย Make an appointment