การฝังรากฟันเทียม เป็นวิธีการทดแทนฟันแท้ได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่ที่มีขั้นตอนและรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะการฝังรากเทียม คือ การยึดฟันเข้ากับกระดูกขากรรไกรด้วยรากเทียม ซึ่งสภาพกระดูกของแต่ละบุคคลมีลักษณะ ความแข็งแรง การสลายของกระดูกที่เป็นไปตามวัยแตกต่างกัน และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย และการสลายของกระดูกนี้เอง ที่เป็นปัญหาหลักของการฝังรากเทียม เพราะกระดูกอาจมีความหนา ความสูง หรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฝังรากเทียม ดังนั้นคุณหมอที่คลินิกทันตกรรมของคุณ อาจแนะนำให้เราทำการปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากเทียม
Page Contents
การปลูกกระดูกฟันคืออะไร
การปลูกกระดูกฟัน คือ การเสริมกระดูกฟัน หรือเติมกระดูกบริเวณขากรรไกรของเราให้แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม ซึ่งโดยปกติแล้วกระดูกของเราจะเกิดการสลายของกระดูกตามวัย ทำให้ปริมาณกระดูกลดลงจนกระดูกบาง หรือในกรณีอื่นๆ เช่นการถอนหรือสูญเสียฟันที่ถูกปล่อยไว้นานจนกระดูกรอบตัวฟันสลาย เป็นต้น
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากเทียม
- การปลูกกระดูกฟัน มีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กระดูกขากรรไกรภายในช่องปากให้มีปริมาณกระดูกเพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม ซึ่งรากฟันเทียมทำหน้าที่ยึดกระดูกขากรรไกร เข้ากับเหงือกและฟันของเรา หากกระดูกขากรรไกรบางหรือแข็งแรงไม่พอ จะทำให้ไม่สามารถยึดฟันเข้ากับขากรรไกรและฟันอาจเลื่อนหลุดได้ แต่คุณจำเป็นจะต้องปลูกกระดูกฟันหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์
ประเภทของการปลูกกระดูกฟันแบ่งออกได้ดังนี้
- Allografts กระดูกจากผู้บริจาคอวัยวะ เป็นเซลล์กระดูกที่ไม่มีชีวิต ซึ่งมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะต่อต้านจนทำให้กระดูกไม่ติดค่อนข้างต่ำ
- Autografts กระดูกของคนไข้เอง นำมาปลูกในส่วนที่ต้องการฝังรากเทียม ซึ่งร่างกายจะไม่ต่อต้าน ตำแหน่งที่นิยมเก็บ คือ กระดูกขากรรไกรบริเวณฟันคุดและคาง สามารถเก็บมาได้ทั้งแบบเป็นชิ้น (block bone graft) หรือเป็นผง (particulated)
- XenoGrafts กระดูกจากสิ่งมีชีวิตอื่น (กระดูกสัตว์) มีราคาค่อนข้างสูง เพราะกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อค่อนข้างยุ่งยาก แต่ข้อดีคือกระดูกชนิดนี้ละลายช้า
- Alloplast กระดูกสังเคราะห์ ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น เซรามิก, แคลเซียม ฟอสเฟต เป็นต้น
วิธีปลูกกระดูกฟันที่นิยมในปัจจุบัน
วิธีปลูกกระดูกฟันในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ที่นิยมทำได้แก่
- ปลูกถ่ายกระดูกเบ้าฟัน มักทำในกรณีที่กระดูกฟันแคบ หรือการถอนฟันที่เกิดขึ้นนานแล้วทำให้ความกว้างของสันกระดูกเบ้าฟันไม่เพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม
- ปลูกถ่ายกระดูกสันขากรรไกร เป็นการเพิ่มพื้นที่ความยาวของกระดูกขากรรไกรเพื่อรองรับการฝังรากเทียม นิยมใช้กระดูกที่ได้รับการบริจาคมา
- ปลูกกระดูกแบบชิ้น เป็นการปลูกกระดูกฟันเพื่อเพิ่มขนาดความหนา หรือความสูงของกระดูกนิยมใช้กระดูกของคนไข้ในการปลูกกระดูกฟัน
- ปลูกกระดูกในไซนัส เป็นการปลูกกระดูกบริเวณฟันหลังบนที่มีความเชื่อมโยงกันกับโพรงไซนัส หรือโพรงอากาศข้างจมูก ถ้าหากโพรงไซนัสมีขนาดกว้างหรือย้อยลงมาจะทำให้ความสูงของกระดูกในฟันหลังบนไม่เพียงพอที่จะฝังรากเทียม การปลูกกระดูกในไซนัสจึงทำเพื่อให้กระดูกสูงขึ้น และป้องกันไม่ให้รากเทียมหลุดเข้าไปในไซนัส
วิธีการดูแลรักษาหลังปลูกกระดูกฟัน
- ภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังการผ่าตัดควรระมัดระวังการกระทบกระเทือนในช่องปาก คนไข้ควรรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน งดการดูดน้ำหรืออาหารจากหลอดจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดไม่หยุดไหล และทำให้แผลหายช้า ส่งผลเสียต่อรากฟันเทียมและบาดแผลจากการผ่าตัด
- ห้ามสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่จะทำให้การรักษาได้ผลช้าลงและไม่สำเร็จ
- งดออกกำลังกายหนักและทำกิจกรรมใน 1 – 3 วันแรกหลังปลูกกระดูกฟัน เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน หรือเลือดสูบฉีดจนทำให้เลือดกลับมาไหลจากปากแผลอีก
- ในการปลูกกระดูกฟันอาจใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้กระดูกที่ปลูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับกระดูกของเรา
การปลูกกระดูกฟัน เป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับช่องปาก เพื่อให้มีพื้นที่ ขนาด ความสูงของกระดูกเพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการฝังรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันแท้ แต่ใช่ว่าทุกคนที่ต้องทำการฝังรากเทียมจะต้องปลูกกระดูกฟัน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เป็นผู้ประเมินความจำเป็นในการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้การรักษาฟันของเราประสบความสำเร็จมากที่สุด