สำหรับใครที่มีปัญหายิ้มแล้วมองเห็นเหงือกเยอะ เหงือกยื่นกว่าปกติ หรือยิ้มแล้วรู้สึกว่าเนื้อฟันดูสั้นดูเตี้ยกว่าปกติจนเสียความมั่นใจ ทำให้ไม่กล้าที่จะยิ้มแบบเห็นฟัน ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเราจะพาไปทำความรู้จักกับวิธีแก้ปัญหายิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่าง “ผ่าตัดเหงือก” ทันตกรรมเพื่อความสวยงามที่ช่วยลดขนาดเหงือก และเพิ่มความยาวของฟันได้จริง จะน่าสนใจแค่ไหนนั้น ไปดูกันเลย
Page Contents
ตัดเหงือก คืออะไร?
การผ่าตัดเหงือก คือการผ่าตัดนำเหงือกส่วนเกินออก หรือปรับเปลี่ยนรูปร่างของเหงือกเพื่อรักษาโรคในช่องปากต่าง ๆ เช่น
- โรคเหงือกอักเสบ หรือร่องเหงือกลึกที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการเกลารากฟัน
- รักษาร่วมกับการทำทันตกรรมอื่น ๆ เช่น การจัดฟัน, การรักษารากฟัน หรือครอบฟัน
- แก้ปัญหาระดับขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน
- มีเนื้อเหงือกเยอะเกินไปจนทำให้ทำความสะอาดยาก เสี่ยงต่อการสะสมของแบคทีเรียและคราบหินปูนจนทำให้ฟันผุ หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ
- มีเนื้อเหงือกมากเกินไปจนทำให้พูดไม่ชัด
นอกจากผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องปากแล้ว การผ่าตัดตกแต่งเหงือกยังสามารถนำไปใช้เพื่อความสวยงามได้ด้วย เรียกว่า “ศัลยกรรมตัดแต่งเหงือก” ซึ่งเป็นการผ่าตัดยกระดับเหงือกให้สูงขึ้น หรือตัดแต่งเหงือกส่วนเกินออก เพื่อให้แนวเหงือกเสมอกัน ช่วยแก้ปัญหาเหงือกไม่สมมาตร หรือไม่เท่ากัน ทำให้เหงือกดูสวยเป็นธรรมชาติมากขึ้น และช่วยเพิ่มความยาวให้กับฟัน
การศัลยกรรมตกแต่งเหงือกนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทำร่วมกับการทำวีเนียร์, กรอกระดูกฟัน, ครอบฟัน, ผ่า หรือถอนฟันคุด เพื่อให้เหงือกออกมาดูเรียบเนียนเป็นธรรมชาติมากที่สุด
อาการแบบไหนที่จำเป็นต้องผ่าตัดเหงือก
ความจำเป็นในการผ่าตัดตกแต่งเหงือกจะขึ้นอยู่กับว่า ลักษณะรูปร่างของเหงือกเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไหม
หากคุณเป็นคนที่มีปัญหาเหงือกงอกมาคลุมฟันมากเกินไปจนทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก หรือพูดไม่ชัด หรือเป็นคนที่มีช่องว่างระหว่างเหงือกและฟันจนทำให้เศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย และทำให้เกิดโรคในช่องปากได้ง่ายกว่าปกติ ก็ควรที่จะผ่าตัดตกแต่งเหงือกเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาช่องปากในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีปัญหายิ้มแล้วมองเห็นเหงือกมากกว่าปกติ เหงือกยื่น เห็นขอบเหงือกไม่เท่ากัน หรือการขึ้นของฟันไม่สมบูรณ์จนทำให้ฟันดูเตี้ยหรือสั้นกว่าปกติ แม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพในช่องปาก แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ส่งผลต่อความสวยงาม ความมั่นใจ และบุคลิกภาพ ซึ่งคุณก็สามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดตกแต่งเหงือกได้เช่นกัน
ตัดเหงือก มีกี่วิธี?
ในปัจจุบันการผ่าตัดตกแต่งเหงือกจะมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ การผ่าตัดตกแต่งเหงือกด้วยมีด ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และการผ่าตัดตกแต่งเหงือกด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องตัดเหงือกไฟฟ้า โดยทั้งสองวิธีจะทำภายใต้การฉีดยาชา แต่จะมีข้อแตกต่างกันดังนี้
1. การตัดแต่งเหงือกด้วยมีด
เป็นการรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม โดยทันตแพทย์จะใช้มีดตัดแต่งเหงือกส่วนเกินออกตามแนวร่องฟันที่ได้ออกแบบไว้ วิธีนี้จะต้องมีการเย็บและปิดแผล ทำให้ต้องดูแลแผลผ่าตัดเป็นพิเศษ มีเลือดออกมากกว่าวิธีที่ 2 และใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน
2. การตัดแต่งเหงือกด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องตัดแต่งเหงือกไฟฟ้า
การตัดแต่งเหงือกด้วยเครื่องมือสำหรับตัดขอบเหงือกโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น เลเซอร์ หรือไฟฟ้า จะมีข้อดีกว่าการตัดแต่งเหงือกด้วยมีดตรงที่เจ็บน้อยกว่า ไม่ต้องเย็บแผล เพราะในขณะที่ตัดจะสามารถห้ามเลือดได้เลย ทำให้แผลมีขนาดเล็กกว่า มีเลือดออกน้อยกว่า ใช้ระยะเวลาการผ่าตัดไม่นานเพียงแค่ 3 – 5 นาที และพักฟื้นได้เร็วกว่า จึงทำให้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมนั่นเอง
ขั้นตอนผ่าตัดเหงือกที่ควรรู้
เพื่อให้คุณสามารถเข้ารับการผ่าตัดตกแต่งเหงือกได้ราบรื่นที่สุด สามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกวิธี เรามีขั้นตอนเข้ารับการตัดแต่งเหงือกที่ควรรู้มาแนะนำ ดังนี้
- คุณจะต้องเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก และเคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อย
- ทันตแพทย์วางแผนการรักษา โดยเอกซเรย์เพื่อประเมินระดับกระดูก ในบางรายที่ระดับกระดูกฟันสูง อาจจำเป็นต้องทำการกรอกระดูกฟันร่วมด้วย
- หลังจากที่วางแผนรักษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะนัดหมายวันเข้ารับการผ่าตัด
- การผ่าตัดตกแต่งเหงือกจะเริ่มจากการใส่ยาชา และกำหนดจุดที่จะตัดแต่งเหงือกก่อน หลังจากที่ยาชาออกฤทธิ์แล้วจะเริ่มทำการตัดแต่งเหงือก ซึ่งระยะเวลาผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 – 2 ชั่วโมง
- สำหรับใครที่กลัวเจ็บ ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นการผ่าตัดภายใต้ยาชา
- หลังจากผ่าตัดตกแต่งเหงือกเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างละเอียด และนัดหมายตรวจติดตามผลการรักษาภายใน 1 – 2 อาทิตย์
วิธีดูแลและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดเหงือก
หลังจากผ่าตัดแต่งเหงือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องดูแลตนเองตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยทันตแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณผ่าตัด โดยให้กลั้วน้ำยาฆ่าเชื้อ และใช้คอตตอนบัดชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดแผลแทน
- รับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่งจนกว่าจะหมด เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ และการเกิดอาการดื้อยา
- ในกรณีที่รู้สึกปวด สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อเหงือกและฟัน เช่น เคี้ยวของแข็ง กัดฟัน ต่อยมวย หรือว่ายน้ำ เป็นต้น
- ในช่วงแรกหลังผ่าตัด แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนที่ไม่ต้องออกแรงเคี้ยวเยอะ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือซุปต่าง ๆ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารที่เคี้ยวยาก ๆ อย่าง เนื้อติดมัน การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้แผลเกิดการระคายเคือง หรือทำให้แผลหายช้าได้
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวน้ำแข็ง ถั่ว อาหารแข็ง ขนมกรุบกรอบ เพราะส่งผลต่อฟันและเหงือก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีสิ่งปนเปื้อนที่ส่งผลให้แผลติดเชื้อได้
จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดเหงือกสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ในช่องปาก รวมถึงแก้ปัญหายิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะได้ โดยจะช่วยปรับแต่งรูปร่างเหงือกให้เสมอกัน ทำให้ฟันดูยาวขึ้น และสร้างรอยยิ้มที่สวยงามเป็นธรรมชาติ นับเป็นอีกหนึ่งหัตถการทางทันตกรรมที่มีประโยชน์หลายด้านมาก อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นการผ่าตัด ก็ต้องมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงเหมือนกับการผ่าตัดอื่น ๆ ผู้ที่สนใจเข้ารับการผ่าตัดตกแต่งเหงือกจึงควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะวิธีเตรียมตัวและดูแลตนเองหลังผ่าตัด และเลือกทำกับคลินิกทำฟันที่น่าเชื่อถือ ได้รับมาตรฐานระดับสากล ก็จะช่วยให้การตัดแต่งเหงือกเป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น