รวม 7 ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบบ่อย พร้อมวิธีดูแลที่ถูกต้อง

ปัญหาสุขภาพตามวัยเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ เพื่อให้คุณสามารถดูแลสุขภาพฟันและช่องปากของตนเอง หรือผู้สูงอายุในบ้านได้อย่างถูกวิธี เราได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุมาฝาก ตั้งแต่ปัญหาที่พบได้บ่อย สาเหตุ ไปจนถึงวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จะน่าสนใจแค่ไหนนั้น ไปดูกัน

ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

“ฟัน” เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญในการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ช่วยให้เรากลืนอาหารได้สะดวก และทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการออกเสียงคำ หรือพยัญชนะบางตัวให้ชัดเจนด้วย การดูแลรักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น 

เพราะฟันแท้ที่ถูกใช้งานเป็นประจำทุกวันมาอย่างยาวนาน จะเกิดการเสื่อม หรือความเปลี่ยนแปลง หรือโรคในช่องปากที่เป็นมาก่อนถึงวัยสูงอายุ จะมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้สูญเสียฟัน และเกิดช่องว่างระหว่างฟันตามมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุทำได้ยากกว่าวัยอื่น ๆ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญมาก ไม่อย่างนั้นก็อาจทำให้ปัญหาฟันลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ จนเป็นอันตรายได้นั่นเอง

รวม 7 ปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบบ่อย พร้อมสาเหตุ

เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากในผู้สูงอายุได้ถูกวิธี สามารถสังเกตอาการผิดปกติพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เราได้รวบรวม 7 ปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย ๆ พร้อมสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามาให้แล้ว ดังนี้

1. สูญเสียฟัน

เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นอาการท้าย ๆ ของโรคในช่องปากต่าง ๆ อย่างเช่น​ โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการบูรณะฟันจนต้องถอนออก

2. ปากแห้ง น้ำลายน้อย

เป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ร่างกายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ผลข้างเคียงจากการเป็นโรคเบาหวาน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยานอนหลับ หรือยาขับปัสสาวะ

3. ฟันผุ รากฟันผุ

มักพบที่บริเวณคอฟันและรากฟัน เกิดจากการสูญเสียเนื้อเหงือกและกระดูกรองรับรากฟันเสื่อมจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งภาวะปากแห้งยังกระตุ้นให้ฟันผุและรากฟันผุได้ง่ายกว่าปกติด้วย

4. เหงือกอักเสบ

ผู้สูงอายุมักจะละเลยการทำความสะอาดฟันและช่องปากถูกวิธี หรือทำความสะอาดฟันปลอมได้ไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์จนทำให้เกิดการสะสมของคราบหินปูนที่นำไปสู่โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือโรคฟันผุ

5. ฟันล้ม ฟันเคลื่อน

เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน แล้วไม่ทำฟันปลอมทดแทนฟันที่เสียไป ทำให้ฟันข้างเคียงค่อย ๆ ล้มลงมายังบริเวณช่องว่าง

6. แผลในช่องปาก

เนื้อเยื่อในช่องปากของผู้สูงอายุจะอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้เกิดแผลในช่องปากได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับการกระทบกระเทือนจากการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ อาหารที่แข็ง ขอบฟันที่คม หรือเป็นแผลร้อนใน เป็นต้น

7. มะเร็งในช่องปาก

จัดเป็น 1 ใน 10 ชนิดของมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย โดยมักเกิดจากการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ลักษณะอาการคือ มีรอยโรคสีแดงขาว หรือสีขาวปนแดงในช่องปากคล้ายกับแผลร้อนใน ในบางรายอาจมีก้อนเนื้อบวมโต หรืออาจมีอาการชา ปวด หรือมีเลือดไหลในช่องปากโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วย

หากไม่ดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุจะเกิดอะไรขึ้น?

หากไม่ดูแลสุขภาพฟันและช่องปากในผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี จะทำให้ปัญหาช่องปากต่าง ๆ ลุกลามอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียฟันเป็นจำนวนมากได้
การสูญเสียฟันจำนวนมากนั้น จะส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งสุขภาพกายและใจ เช่น ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารแย่ลง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอ ส่งผลเสียให้สุขภาพร่างกายแย่ลงในระยะยาว ทำให้อ่อนแอและเจ็บป่วยง่าย นอกจากนี้ยังทำให้พูดไม่ชัด และส่งผลต่อความสวยงามด้วย

แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ จะคล้ายกับการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากในวัยอื่น ๆ แต่จะต้องให้ความใส่ใจมากกว่าปกติ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

  • ควรแปรงฟันด้วยขนแปรงที่อ่อนนุ่ม แปรงสีฟันมีขนาดเหมาะมือ และใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • ควรแปรงฟันให้ครบทุกซี่อย่างเบามือด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
  • ในกรณีที่มีฟันซี่ที่อยู่โดด ๆ แนะนำให้ใช้แปรงกระจุกเดียวทำความสะอาดรอบ ๆ
  • ใช้ไหมขัดฟันในส่วนที่ทำความสะอาดได้ยากอย่างซอกฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหารที่อาจตกค้างอยู่
  • ใช้ผ้าก็อซพับเป็นแถบขนาดเล็ก ๆ โอบเช็ดฟันด้านที่ติดกับช่องว่างที่ถอนฟัน โดยเช็ดให้ชิดกับขอบเหงือก
  • เข้ารับการขูดหินปูน และตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก ๆ 6 เดือน
  • ในกรณีที่สูญเสียฟันจนมีช่องว่างระหว่างฟัน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้ฟันล้มฟันเคลื่อนในระยะยาวได้ แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนทำฟันปลอมทดแทนที่เหมาะกับตนเอง ซึ่งจะมีทั้งแบบถอดได้ ครอบฟัน และสะพานฟัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากไม่ดูแลรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้ปัญหาสุขภาพช่องปากที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น จนทำให้สูญเสียฟันจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้ในระยะยาว เพื่อการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากในผู้สูงอายุที่ดีที่สุด แนะนำให้ควรพาผู้สูงอายุไปเข้ารับการขูดหินปูน และตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งทันตแพทย์จะช่วยตรวจดูแลสุขภาพช่องปาก ประเมินปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมแนะนำวิธีดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดปัญหาช่องปากได้มาก และช่วยให้รักษาฟันให้อยู่กับเราได้ยาวนานมากที่สุด

 

ทำนัดหมาย Make an appointment