6 สาเหตุทำให้ ฟันห่าง พร้อมวิธีรับมืออย่างถูกต้อง

ฟันห่าง มีสาเหตุอย่างไร

รวมสาเหตุของอาการ ฟันห่าง ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อาการฟันห่างเป็นหนึ่งในปัญหาฟันที่พบได้บ่อย ๆ บางคนอาจรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหาอะไร แต่บางคนที่มีฟันหน้าห่างมาก ๆ ก็อาจรู้สึกไม่มั่นใจจนไม่กล้าที่จะยิ้มเห็นฟัน ต้องคอยใช้ลิ้นดุนที่ฟันหน้าเพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันจนทำให้เสียบุคลิกภาพ หรือมีปัญหาเศษอาหารติดที่ช่องฟันบ่อย ๆ จนทำให้ฟันผุได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นในการรักษา ฟันห่าง จึงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แบบไหนถึงเรียกว่า “ฟันห่าง”

แม้ว่าฟันของคนเราจะมีลักษณะเรียงชิดติดกัน แต่ก็ยังมีระยะห่างเล็ก ๆ ระหว่างซี่ฟันอยู่ ซึ่งไม่นับว่าเป็นอาการฟันห่างแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากฟันทั้งสองซี่มีช่องว่างระหว่างฟันมากกว่า 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป จะถือว่าเป็นลักษณะของอาการฟันห่าง โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกซี่ และพบบ่อยที่สุดบริเวณฟันด้านหน้า

รวม 6 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ฟันห่าง ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

สาเหตุที่ทำให้ช่องว่างของฟันทั้งสองซี่เพิ่มขึ้นและมีระยะห่างกันมากขึ้นนั้น มีทั้งสาเหตุที่มาจากพฤติกรรมของเราเอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ และสาเหตุที่มาจากพันธุกรรม หรือความผิดปกติของช่องปาก​ ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่รักษาได้ด้วยการรักษาทางทันตกรรม จะมีสาเหตุอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

1. ภาวะกลืนน้ำลายผิดปกติ

ปกติแล้ว คนเราจะกลืนน้ำลายโดยใช้ลิ้นแตะบริเวณกลางเพดานปากด้านในหลังฟันหน้าประมาณ 2 เซนติเมตร และใช้กล้ามเนื้อบริเวณคอในการช่วยกลืนน้ำลายลงไปในลำคอเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีภาวะกลืนน้ำลายผิดปกติ จะใช้ลิ้นยื่นมาแตะบริเวณฟันหน้าบน หรือฟันหน้าล่าง โดยที่ไม่มีการสัมผัสบริเวณเพดานปากลง ส่งให้ผลต้องใช้กล้ามเนื้อรอบริมฝีปากในการช่วยกลืนแทน ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงดันที่ฟันหน้าทุกครั้งที่กลืน และทำให้ฟันยื่นออกไปเรื่อย ๆ หรือฟันหน้าห่างออกไปเรื่อย ๆ

ภาวะกลืนน้ำลายผิดปกตินี้ เป็นสาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจติดมาจากนิสัยตอนเด็ก ๆ จนทำให้วางตำแหน่งลิ้นผิดตำแหน่ง สามารถแก้ไขได้โดยการฝึกวางลิ้นในตำแหน่งที่ถูกต้องในทุก ๆ ครั้งที่กลืน และทำติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 50 ครั้ง ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นจนสามารถกลับมากลืนปกติได้

2. มีนิสัยชอบดูดนิ้ว หรือใช้ลิ้นดุนฟันบ่อย ๆ

การดูดนิ้ว หรือใช้ลิ้นดุนที่ฟันบ่อย ๆ สามารถทำให้เกิดแรงดันที่ฟันหน้าบน หรือฟันหน้าล่างได้เหมือนกับภาวะกลืนน้ำลายผิดปกติ หากทำจนติดเป็นนิสัย และทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน หรือทำให้เกิดฟันยื่นได้

3. เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรง

ในผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์นั้น อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณข้างเคียงอย่างกระดูกรองฟัน หรือซี่ฟัน จนทำให้เกิดฟันโยก ฟันเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม และเกิดช่องว่างระหว่างฟันได้

ดังนั้นผู้ที่มีอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบจึงควรรีบไปรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรง เพราะอาจทำให้ฟันไม่กลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมได้

4. ลักษณะทางพันธุกรรม

เป็นสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ และมักเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ขนาดของฟันและกระดูกขากรรไกรไม่สมดุลกันจนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างซี่ฟัน หรือมีเนื้อเยื่อในช่องปากที่หนาเกินไปจนแทรกตามร่องฟัน แล้วทำให้เกิดช่องว่างตามมา เป็นต้น

5. มีการสูญเสียฟันแท้จากปัจจัยต่าง ๆ

การสูญเสียฟันจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ เป็นโรคฟันผุ หรือโรคเหงือกรุนแรงจนทำให้ต้องถอนฟัน ก็นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันได้เช่นกัน และเป็นช่องว่างที่มีระยะห่างมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะต้องรักษาด้วยการใส่ฟันปลอมทดแทน หรือเข้ารับการจัดฟันโดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอย่างฟันล้ม หรือฟันเคลื่อนมาทางช่องว่างได้นั่นเอง

6. ฟันงอกเกินขึ้นมาบริเวณกระดูกขากรรไกร

การที่ฟันงอกเกินขึ้นมาบริเวณกระดูกขากรรไกรนั้น จะส่งผลให้ฟันซี่อื่น ๆ งอกขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสมไม่ได้จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันตามมาได้

อาการ ฟันห่าง ควรรักษาอย่างไรดี?

ในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาช่องว่างระหว่างฟันหลายวิธีมาก ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดฟันใส Invisalign หรือจัดฟันแบบโลหะเสมอไป เช่น การอุดปิดช่องว่างระหว่างฟันด้วยวัสดุอุดฟันเรซินคอมโพสิต, การทำวีเนียร์เคลือบฟัน หรือการทำฟันปลอม โดยจะใช้ระยะเวลาการรักษาที่สั้นกว่า สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่มีปัญหาฟันห่างสามารถเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ และหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตนเองได้

วิธีป้องกันอาการฟันหน้าห่าง ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง

นอกจากสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดฟันหน้าห่างได้ง่าย ๆ โดยการลดปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน หรือทำให้ฟันยื่น และดูแลสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการดูดนิ้ว หรือใช้ลิ้นดุนฟัน
  • ปรับเปลี่ยนวิธีกลืนน้ำลายให้ถูกวิธี โดยการใช้ลิ้นแตะเพดานปาก ไม่แตะฟันหน้าบน หรือฟันหน้าล่าง
  • แปรงฟันให้ถูกวิธี โดยการเลือกใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่ม แปรงที่ฟันอย่างเบามือ และใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวันเพื่อกำจัดเศษอาหารที่อาจตกค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือส่วนที่ทำความสะอาดได้ยาก
  • ตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก พร้อมกับขูดหินปูนทุก ๆ 6 เดือน

แก้ไขฟันหน้าห่าง อย่างไรดี

อาการ ฟันห่าง หรือฟันหน้าห่างนั้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การกลืนน้ำลายผิดปกติ การมีนิสัยชอบดูดนิ้ว หรือใช้ลิ้นดุนฟันบ่อย ๆ การสูญเสียฟันจากปัจจัยต่าง ๆ หรือลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น การอุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน ทำวีเนียร์ หรือจัดฟันใส Invisalign สำหรับใครที่มีปัญหาช่องว่างระหว่างฟัน แล้วต้องการรักษาให้ฟันกลับมาเรียงชิดติดกันอย่างสวยงาม สามารถเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจได้ เรามีทีมทันตแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมดูแลทุกเคสด้วยความใส่ใจ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุดได้

 

ทำนัดหมาย Make an appointment