ร้อนในปากเป็นหนึ่งในโรคในช่องปากที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเป็นแผลร้อนในอย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง แล้วการเป็นแผลในปากนี้ เกิดจากสาเหตุอะไร มี วิธีแก้ร้อนในปาก หรือวิธีดูแลตนเองเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น หรือป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำไหม ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจ (Thantakit) จะพาคุณไปหาคำตอบเอง
Page Contents
รู้จักกับแผลร้อนในปาก
แผลร้อนในปาก (Aphthous Ulcer) คือ รอยโรคแผลที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บริเวณเนื้อเยื่อบุผิวช่องปาก โดยจะเริ่มจากเป็นจุดแดง หรือตุ่มเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อยพัฒนาเป็นแผลเปิดที่มีลักษณะรูปวงรี มีสีขาว และขอบเป็นสีแดงนูนออกมา
การเป็นแผลในปากนั้น มักพบบริเวณที่กระพุ้งแก้มและริมฝีปากด้านใน อาจเกิดเป็นแผลเดียว หรือหลายแผลก็ได้ และสามารถทำให้เกิดอาการแสบ และความเจ็บปวดได้ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมาก โดยเฉพาะในเวลาที่ได้รับการกระตุ้นจากอาหารที่มีรสเผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด
ชนิดของแผลร้อนในปาก
แผลร้อนในในช่องปากจะแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ คือ
- ชนิดแผลเล็ก (Minor type) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด จะมีลักษณะเป็นสีขาว รูปวงรี ขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร สามารถหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น
- ชนิดแผลใหญ่ (Major type) ลักษณะของแผลจะเหมือนกับชนิดแผลเล็ก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า 0.5 เซนติเมตร ใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่า และอาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา
- ชนิดแผลคล้ายเริม (Herpetiform type) ลักษณะของแผลคล้ายกับหัวเข็มหมุด เกิดขึ้นหลาย ๆ แผล และทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก สามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น
สาเหตุของและ วิธีแก้ร้อนในปาก
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า แผลร้อนในเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpe Simplex Virus (HSV) เหมือนกับโรคเริม นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะจริง ๆ แล้ว แผลร้อนในปากไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วจะเกื้อหนุนกันจนทำให้แผลร้อนในในช่องปาก ตัวอย่างเช่น
- การได้รับบาดเจ็บในปาก เช่น การกัดกระพุ้งแก้ม แปรงฟันแรงเกินไป หรือการกระแทกจากการเล่นกีฬา
- การแพ้อาหารแฝงต่าง ๆ เช่น นม ช็อกโกแลต กาแฟ
- การแพ้สารเคมี
- การรับประทานอาหารที่มีกรดสูง เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือหวานจัด บ่อยเกิดไป
- การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี เหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก
- ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้หญิงที่มีประจำเดือน หรือผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด หรือกังวล
- ผู้เป็นที่เป็นโรค มีภาวะ หรือปัญหาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ใครที่เสี่ยงเป็นแผลร้อนในปากได้บ่อย ๆ
ผู้หญิงจะเสี่ยงเป็นแผลร้อนในปากได้มากกว่าผู้ชาย เพราะในช่วงที่เป็นประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เป็นแผลในปากได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นแผลร้อนในบ่อย ๆ หรือผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอก็เสี่ยงเป็นแผลร้อนในได้ง่ายคนทั่วไปด้วย
วิธีแก้ร้อนในปาก ที่ได้ผลจริง สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ผู้ที่มีแผลร้อนในปากสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้อาการแผลร้อนในดีขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะกระตุ้นให้แผลรุนแรงขึ้นได้
- ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องให้มาก ๆ โดยใช้หลอดดูดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำสัมผัสแผลได้ตรง
- เปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันเด็กในช่วงที่มีเป็นแผลร้อนใน เพราะยาสีฟันของผู้ใหญ่มักมีส่วนผสมของมินต์ที่ทำให้เกิดอาการแสบแผลได้
ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มในการทำความสะอาดฟันและช่องปาก - หมั่นกลั้วปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ครั้ง
- หากเป็นแผลร้อนในรุนแรง สามารถใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ทาที่แผลวันละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
การเป็นแผลในปากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก การแพ้อาหาร หรือระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งคุณสามารถดูแลตนเองโดยการใช้ วิธีแก้ร้อนในปาก ที่เราแนะนำในข้างต้นเพื่อช่วยให้แผลร้อนในดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการแผลร้อนในไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของแผลร้อนใน และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้