Page Contents
รู้จักอาการ กรามค้าง พร้อมวิธีรักษาและบรรเทาอาการอย่างถูกต้อง
เคยไหมที่เวลารับประทานอาหาร หรือพูดคุยอยู่ดี ๆ แล้ว ไม่สามารถหุบปากลงมาได้ นั่นอาจเป็นอาการ กรามค้าง หรือขากรรไกรค้างก็ได้ สำหรับใครที่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วอยากรู้ว่าจะต้องระมัดระวัง ควรดูแลตนเอง หรือบริหารขากรรไกรอย่างไรบ้าง ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจ (Thantakit) มีคำตอบมาฝาก
กรามค้าง หรือขากรรไกรค้าง คืออะไร?
อาการอ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “กรามค้าง” จริง ๆ แล้ว ในทางการแพทย์เรียกว่า “ขากรรไกรค้าง” หรือ “อ้าปากค้าง” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักนำไปรวมกับอาการอ้าปากได้จำกัด หรืออ้าปากไม่ขึ้น ที่มีลักษณะอาการอ้าปากแล้วไม่สามารถอ้าปากได้กว้างตามปกติ
อาการอ้าปากค้างนั้น มักเกิดเวลาที่เราหัวเราะกว้าง ๆ หาวกว้าง ๆ รับประทานอาหารคำโต ๆ หรือเกิดในช่วงที่เราอ้าปากกว้างเพื่อทำฟันนาน ๆ ซึ่งอาจเกิดเสียงดังที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก หรือเสียงกรอบแกรบ และทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร่วมด้วยได้
สาเหตุของอาการขากรรไกรค้าง
การอ้าปากและหุบปากนั้น จะเกี่ยวข้องกับข้อต่อขากรรไกรที่อยู่บริเวณหน้ารูหู ซึ่งจะหมุนและเคลื่อนไปมาในเบ้ากระดูกที่ติดอยู่กับกะโหลกศีรษะในขณะที่เราทำการอ้าหรือหุบปาก โดยเมื่อเราอ้าปาก หัวข้อต่อขากรรไกรและหมอนรองข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูก และเมื่อเราหุบปากก็จะเคลื่อนกลับเข้าไปในเบ้ากระดูก
อย่างไรก็ตาม หากหัวข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนพันเบ้ากระดูกออกมาขัดค้างอยู่นอกเบ้า และไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถหุบปากลงได้ตามปกติ หรือที่เรียกว่า ขากรรไกรค้าง นั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าขากรรไกรค้างผิดปกติ?
อาการ กรามค้าง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการอ้าปากค้างเป็นประจำ
- มีอาการปวดเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น ปวดบริเวณใบหน้า ขากรรไกร ลำคอ และไหล่
- รู้สึกปวดลามไปถึงหูขณะที่เคี้ยวอาหาร พูด หรืออ้าปากกว้าง
- รู้สึกเหมือนขากรรไกรล็อก หรือเกิดเสียงแปลก ๆ ขณะอ้าปากบ่อย ๆ
- มีเสียงอื้อในหู
- มีปัญหาด้านการเคี้ยว หรือกัด
- มีอาการแก้มบวมข้างเดียว
นั่นอาจเป็นสัญญาณของขากรรไกรค้างผิดปกติ แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวันได้
เมื่อเกิดอาการกรามค้าง ควรทำอย่างไรดี?
หากอยู่ดี ๆ อ้าปากแล้ว ไม่สามารถหุบปากลงได้ ผู้ที่มีอาการจะต้องทำใจให้สงบ และอย่าตื่นตกใจ เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเกร็งมากขึ้น และไม่สามารถจัดตำแหน่งขากรรไกรเข้าที่ได้
หลังจากที่ใจเย็นลงแล้ว ให้ลองรักษาด้วยตนเองด้วยวิธีการต่อไปนี้
- พยายามขยับขากรรไกรไปมา และนวดคลึงบริเวณหน้าหูและข้างแก้มเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถหุบปากลงได้เอง
- เมื่อหุบปากลงแล้ว ไม่ควรอ้าปากกว้าง ๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการอ้าปากค้างได้อีก
- นำน้ำแข็งห่อผ้ามาประคบที่ข้างแก้ม หรือหน้าหู เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดลง
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ไข่ตุ๋น แกงจืด ซุปไก่ ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง หรือเหนียวจนกว่าอาการเจ็บปวดจะดีขึ้น
- หากมีอาการปวด สามารถบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการตบ หรือชกที่ใบหน้าและขากรรไกร หรือพยายามหุบปากลงทั้งที่ข้อต่อขากรรไกรค้างอยู่ เพราะจะทำให้ปวดขากรรไกร หรือขากรรไกรอักเสบได้
อย่างไรก็ตาม หากการรักษาด้วยตนเองไม่ประสบผลสำเร็จ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาฉุกเฉินทันที โดยทันตแพทย์จะช่วยจัดขากรรไกรให้เข้าที่ ทั้งนี้ในผู้ที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเกร็งมาก ทันตแพทย์อาจจ่ายยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความกังวล เพื่อช่วยให้จัดขากรรไกรได้ง่ายยิ่งขึ้น
แนวทางการรักษาอาการ กรามค้าง ขากรรไกรค้าง
สำหรับใครที่มีปัญหาอ้าปากค้าง หรือกรามค้างบ่อย ๆ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการอ้าปากกว้างมาก ๆ โดยเวลาหาวให้เอามือมาประคองใต้คาง และรับประทานอาหารคำเล็กลง
- หมั่นบริหารขากรรไกรเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบดเคี้ยว และทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นแข็งแรง สามารถขยับข้อต่อขากรรไกรได้คล่องขึ้น
- ในคนที่มีอาการนอนกัดฟัน ทันตแพทย์อาจให้ใส่เฝือกสบฟันเพื่อลดการได้รับผลกระทบจากแรงกระแทกขณะที่กัดฟัน
- ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาฉีดสเตียรอยเข้าข้อต่อขากรรไกรเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด หรือฉีดโบทูลินัมท็อกซินเอ (Botulinum toxin A) ที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยวเพื่อลดการทำงานและอาการเกร็งลง
- หากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดข้อต่อขากรรไกร เพื่อซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงลักษณะทางโครงสร้างของตัวข้อต่อขากรรไกร
แนะนำ 4 ท่าบริหารขากรรไกรทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
การบริหารขากรรไกร เป็นวิธีรักษาอาการอ้าปากค้างที่ทันตแพทย์มักแนะนำให้ทำเป็นวิธีแรก เพราะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และอาจช่วยรักษาอาการอ้าปากค้างให้หายขาดได้ โดยก่อนที่จะบริหารขากรรไกรแนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดประคบบริเวณใบหน้าทั้งสองข้าง ประมาณ 10 – 15 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายก่อน ก็จะช่วยให้ทำท่าบริหารได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับท่าบริหารขากรรไกรที่ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน มีดังนี้
- วางปลายลิ้นที่เพดานปากบริเวณเหงือกหลังฟันหน้าบน แล้วอ้าปากจนกว้างสุด โดยให้ลิ้นยังแตะที่บริเวณนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ดันฟันหน้า ทำค้างอ 6 วินาที และทำซ้ำ 6 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ โดยทำวันละ 6 รอบ
- ฝึกพูดคำว่า “N” หรือ “M” จะช่วยผ่อนคล้ายใบหน้า ขากรรไกร และลิ้นได้
- ฝึกอ้าปากแนวตรง โดยdkiยืนหน้ากระจก แล้ววางนิ้วชี้แตะเบา ๆ ที่ข้อต่อขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นให้อ้าและหุบปากช้า ๆ เพื่อดูการเคลื่อนของขากรรไกร โดยควรเคลื่อนเป็นแนวตรง ไม่เฉ หรือเอียง
- ให้อ้าปากจนสุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ปวดเมื่อย ทำค้าง 5 วินาที และกลับท่าพัก จากนั้นให้ยื่นคางมาด้านหน้าสุด ทำค้าง 5 วินาที และกลับท่าพัก จากนั้นให้เยื้องคางไปข้างซ้ายสุด ทำค้าง 5 นาทีและกลับท่าพัก และเยื้องคางไปข้างขวาจนสุด ทำค้าง 5 วินาทีและกลับท่าพัก ทำวันละ 5 – 10 รอบต่อวัน
ท่าบริหารขากรรไกรที่เรานำมาแนะนำนั้น สามารถเลือกทำท่าใดท่าหนึ่ง หรือทำทุกท่าต่อวันก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการทำท่าบริหาร ควรปรึกษาทันตแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดก่อนทำ ไม่ควรเริ่มทำด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่า อาการกรามค้าง หรือขากรรไกรค้าง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมักเป็นอาการชั่วคราวที่สามารถหายได้ด้วยตนเอง เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว ควรค่อย ๆ นวดคลึงขากรรไกรให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง ไม่ควรที่จะตบหรือชกที่ใบหน้า หรือฝืนหุบปากลงมาในขณะที่กล้ามเนื้อเกร็งอยู่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการอ้าปากค้างบ่อย ๆ หรือหลังจากที่นวดคลึงแล้วก็ยังไม่สามารถหุบปากลงได้ แนะนำให้รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้