นอนกัดฟัน คืออะไร ควรรักษาอย่างไรดี?

การนอนกัดฟัน และการแก้ปัญหา

ไขข้อสงสัย การนอนกัดฟัน คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร

คนที่มีอาการ นอนกัดฟัน ส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าตนเองมีอาการกัดฟันขณะนอนหลับ จนกว่าจะมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาฟัน หรือกระดูกขากรรไกรตามมา หรือมีคนใกล้ชิดแจ้งให้ทราบ เพื่อให้คุณรับมือกับอาการกัดฟันขณะนอนหลับได้ดีขึ้น สามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการกัดฟันได้ ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจ (Thantakit) จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการนี้กัน

นอนกัดฟัน ทำไงดี

อาการ นอนกัดฟัน (Bruxism) คืออะไร?

อาการนอนกัดฟัน เป็นหนึ่งในความผิดปกติของการนอน (Sleep Disorders) โดยระบบบดเคี้ยวทำงานผิดปกติในขณะที่นอนหลับ ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ และทำให้เกิดการกัดฟัน บดฟัน หรือขบเน้นที่ฟันตามมาโดยไม่รู้ตัว

ลักษณะอาการกัดฟันขณะนอนหลับ

ลักษณะของการกัดฟันขณะนอนหลับจะมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้

  • กัดฟันแบบมีเสียง: เป็นอาการกัดฟันแบบขบเน้นที่ฟันแน่น ๆ หรือใช้ฟันบนล่างบดถูไถซ้ำกันไปมาในขณะนอนหลับ และทำให้เกิดเสียงกัดฟันตามมา โดยในผู้ที่มีอาการกัดฟันอย่างรุนแรง อาจเกิดอาการดังกล่าวได้มากกว่า 100 ครั้งต่อคืน
  • กัดฟันแบบไม่มีเสียง: เป็นอาการกัดฟันแบบกัดแน่น ไม่มีการถูไถไปมา จึงไม่ทำให้เกิดเสียง

สาเหตุของการนอนกัดฟัน

นอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุใด?

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการนอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น

  • พันธุกรรม
  • ความเครียด หรือวิตกกังวล
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
  • ผลกระทบจากโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson)
  • เกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders) เช่น อาการหยุดหายใจขณะนอน (Obstructive sleep apnea) หรือนอนกรน
  • อายุ โดยในวัยเด็กจะมีอาการนอนกัดฟันมากกว่าผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่มักหายได้เองเมื่อโตขึ้น

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดฟันขณะนอนหลับ

สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่าตนเองมีอาการกัดฟันขณะนอนหลับไหม คุณสามารถสังเกตอาการตนเองได้ง่าย ๆ จากการอัดเสียงขณะนอนหลับ, สอบถามผู้ที่นอนข้าง ๆ หรือดูได้จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดฟัน ดังนี้

  • ฟันสึก ฟันสั้นลง หรือคอฟันสึกเป็นร่องจนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา
  • ฟันบิ่น ฟันแตก หรือฟันร้าว จนทำให้มีอาการปวดฟัน ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้
  • มีอาการปวดเมื่อย หรือเจ็บตึงบริเวณแก้ม หรือหน้าหู
  • ข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติด ๆ ขัด ๆ มีอาการกรามข้าง หรือรู้สึกเจ็บจนอ้าปากไม่ได้
  • บางคนอาจมีอาการกระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน หรือกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม

แนะนำแนวทางรักษาและวิธีแก้ นอนกัดฟัน ที่ถูกต้อง

หากคุณพบว่าตนเองมีอาการที่เกิดจากผลกระทบของการกัดฟัน ควรรีบไปพบหมอ หรือทันตแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอาการ และหาวิธีแก้นอนกัดฟันที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการกัดฟันทุเลาลง ก่อนที่ปัญหาช่องปากต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งตอนถอนฟัน หรือผ่าตัดขากรรไกร

สำหรับวิธีการรักษาอาการกัดฟันนั้น จะมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

1. ใส่เฝือกสบฟัน แก้ปัญหา นอนกัดฟัน

เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับเครื่องมือพิมพ์ฟัน หรือรีเทนเนอร์ใส แต่จะออกแบบมาเพื่อรักษาอาการกัดฟันโดยเฉพาะ มีลักษณะคั่นอยู่ระหว่างขากรรไกรบนและล่าง สามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ โดยทันตแพทย์จะให้ใส่เฝือกสบฟันในระหว่างที่นอนหลับ เพื่อป้องกันความเสียหายของฟันจากการกัดฟัน
หลังจากใส่เฝือกสบฟันแล้ว ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ฝึกวางตำแหน่งของปาก หรือขากรรไกรให้เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคนด้วย ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยให้อาการกัดฟันค่อย ๆ ดีขึ้นได้เช่นกัน

2. รักษาด้วยการบำบัดจิตและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม

นอกจากใส่เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันฟันไม่ให้สึก หรือบิ่นแล้ว ผู้ที่มีความเครียด หรือรู้สึกวิตกกังวลเป็นประจำก็ควรจะหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด รวมถึงฝึกจัดการความเครียดของตนเองให้ดีขึ้น เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดอาการกัดฟันได้
สำหรับกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายนั้น ควรเน้นไปที่การพักผ่อนให้เพียงพอ ฟังเพลงเบา ๆ ทำสมาธิ หรือการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรที่จะพักผ่อนโดยการเล่นเกม หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนจริง ๆ

3. รักษาด้วยยา

ในผู้ที่มีอาการกัดฟันขณะนอนหลับรุนแรงมากจนทำให้เฝือกสบฟันแตก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อขณะนอนหลับ หรือฉีดโบทูลินัมท็อกซินเอ (Botulinum Toxin A) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโบท็อกซ์ (Botox) ที่บริเวณกรามทั้งสองข้าง ก็จะช่วยให้อาการกัดฟันดีขึ้นได้

นอนกัดฟัน รักษาที่ไหนดี?

สำหรับใครที่มีอาการนอนกัดฟัน แล้วยังไม่รู้ว่าจะไปรักษาที่ไหนดี หรือจะเริ่มต้นรักษาอย่างไรดี เราขอแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอาการกัดฟันก่อน โดยทันตแพทย์จะสามารถตรวจดูได้จากร่องรอยการสึกของฟัน หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ก็ได้ หลังจากนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการกัดฟันจริง ๆ ก็ควรที่จะทำเฝือกสบฟันใส่ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการกัดฟัน และรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ทันตแพทย์แนะนำ ซึ่งที่ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจ เรามีทีมทันตแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมดูแลทุกเคสด้วยความใส่ใจ

ทำนัดหมาย Make an appointment