Page Contents
3 โรคที่ห้ามถอนฟัน
การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยแต่ก็มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากของเรานั้นเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทันตแพทย์จึงเป็นต้องทำการซักประวัติคนไข้โดยละเอียด โดยเฉพาะการถอนฟันหลายซี่ การศัลยกรรมปลายรากฟัน การขูดหินปูนในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคบางโรค ที่ต้องมีการพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อป้องกันอันตรายจากการถอนฟันที่อาจตามมาได้
3 กลุ่มโรคที่ห้ามถอนฟันและควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนรักษา
โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มโรคที่ห้ามถอนฟัน หรือควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งหากเราหรือคนรอบตัวที่จัดอยู่ใน 3 กลุ่มนี้ แล้วต้องเข้ารับการถอนฟัน เพื่อป้องกันอาการหลังถอนฟันที่เป็นอันตราย ก็ควรที่จะแจ้งคลินิกทันตกรรมให้ทันตแพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่นๆ
1.กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก
- โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลิวคีเมีย อาจมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามร่างกายร่วมด้วย
- โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด และควรเลี่ยงการทำหัตถการในช่วงวันที่ฟอกเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 4 ชั่วโมงหลังฟอกเลือด หรือ อย่างน้อย 1 วันหลังฟอกเลือด
- ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หากผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและใส่ลิ้นหัวใจเทียม จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะขนาดสูงก่อนรับการรักษาทางทันตกรรมที่ต้องมีเลือดออก
- ผู้ที่รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ที่อาจส่งผลให้เมื่อมีบาดแผลเลือดออกแล้วหยุดได้ยาก จำเป็นต้องรับการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูค่าเวลาการหยุดเลือด ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเริ่มรับการรักษา
กลุ่มคนไข้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดตํ่า ทันตแพทย์จะต้องคำนึงถึงอาการหลังถอนฟัน เช่น ภาวะเลือดออกง่าย และหยุดยากของคนไข้ ก่อนทำการรักษาทางทันตกรรมทุกครั้ง ทันตแพทย์จะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคนไข้เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและการเตรียมตัวของคนไข้ เพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมหากเกิดอาการกำเริบ เพราะบางกรณีแม้จะมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดี แต่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการถอนฟันที่ไม่คาดฝัน เช่น เมื่อถอนฟันซี่ออก แล้วมีอาการเลือดไหลไม่หยุด แพทย์ต้องห้ามเลือดอย่างถูกวิธี และที่สำคัญ คนไข้ไม่ควรหยุดยาใดๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
2.กลุ่มโรคที่อาจเกิดอาการได้ในระหว่างทำฟัน
- โรคหอบหืด อาจมีอาการหอบเหนื่อย และต้องมียาพ่น หรือได้รับยาสเตียรอยด์
- โรคลมชัก
- โรคความดันโลหิตสูง หรืออายุมากกว่า 50 ปี จะต้องวัดความดันโลหิตก่อนเสมอ สามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดก็จะสามารถเข้ารับการถอนฟันได้
- โรคหัวใจ เพราะอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ใจสั่น ระหว่างการทำการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจ จำเป็นจะต้องได้รับการเอาใจใส่และระมัดระวังเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อมากกว่าคนไข้ทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะมีสภาพความผิดปกติของอวัยวะของหัวใจและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจบางส่วน
3.กลุ่มโรคเบาหวานที่กระทบต่อการเกิดแผล
โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี เมื่อเกิดบาดแผลจะหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งก่อนการรักษาทางทันตกรรม ทันตแพทย์จะต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคนไข้เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่และความจำเป็นในการเตรียมตัวของผู้เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมเป็นพิเศษ
การที่เราแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาว่า มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาอะไรเป็นประจำ จะช่วยให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาภายหลังการรักษา และหากพบอันตรายจากการถอนฟันที่ผิดปกติหรือมีอาการหลังถอนฟันใดๆ ควรรีบแจ้งทันตแพทย์ทันที