“ฟันยางแก้กรน” ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน?

อาการนอนกรน ไม่เพียงแค่สร้างความรำคาญใจให้กับคู่นอนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในอาการที่ต้องให้ความใส่ใจและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท พักผ่อนไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยในเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

สำหรับใครที่มีอาการนอนกรนบ่อย ๆ เรามีหนึ่งในเครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยบรรเทาอาการนอนกรนได้อย่าง “ฟันยางแก้กรน” มาแนะนำ ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ร่วมกับวิธีรักษาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดได้ จะน่าสนใจแค่ไหนนั้น ไปดูกันเลย

อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?

ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายจะมีการหย่อนตัว หรือคลายตัว ซึ่งรวมไปถึงอวัยวะในช่องทางเดินหายใจอย่าง เพดานอ่อน หรือโคนลิ้นด้วย และถ้าหากมีการหย่อนตัวลงมามาก ๆ ก็จะทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบลง และส่งผลให้ลมหายใจไม่สามารถผ่านไปยังหลอดลมและปอดได้อย่างสะดวก ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

ในส่วนของอาการนอนกรนนั้น เนื่องจากช่องทางเดินทางหายใจตีบแคบลง เมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าไป ก็จะทำให้เพดาน หรือโคนลิ้นเกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้น โดยลักษณะของเสียงกรนจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น การสั่นที่เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ จะทำให้เกิดเสียงกรนในลำคอ หรือการสั่นที่เนื้อเยื่ออ่อนด้านหลังโพรงจมูก จะทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นจมูก เป็นต้น

นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว อาการนอนกรนยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อยอย่าง ช่องจมูกคด ช่องจมูกตีบตันจากโรคภูมิแพ้ทางอากาศ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด หรือสรีระร่างกายผิดปกติ เช่น คางเล็ก ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ หรือโคนลิ้นอ้วนได้อีกด้วย

การรักษาด้วยฟันยางแก้กรน

การใส่ฟันยางแก้นอนกรน (Oral Appliance) เป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการนอนกรนที่นิยมใช้ในผู้ที่มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย หรือบริเวณทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ 

หากมีอาการนอนกรนในระดับรุนแรง การรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร และจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับที่เรียกว่า “ซีแพ็พ (CPAP)” หรือการผ่าตัดส่วนต่าง ๆ ที่ให้เกิดนอนกรน เช่น ผ่าตัดแก้ไขจมูกคด, ผ่าตัดลิ้นไก่ หรือผ่าตัดเพดานอ่อนแทน

การใส่ฟันยางแก้นอนกรนนั้น มีหลักการรักษาคือ จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น โดยการยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้าน จึงช่วยลดการเกิดกระพือของอวัยวะต่าง ๆ ในช่องทางเดินหายใจส่วนต้น และลดการเกิดโอกาสอาการนอนกรนได้นั่นเอง

ฟันยางแก้กรนคืออะไร?

ฟันยางแก้นอนกรน หรือเรียกว่า เครื่องมือในช่องปาก, ที่ครอบฟันแก้กรน เป็นเครื่องมือที่ใส่ในช่องปากขณะนอนหลับเพื่อรักษาอาการนอนกรน โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ และประดิษฐ์ฟันยางให้แต่ละคนโดยเฉพาะ มีข้อดีเหนือกว่าการใช้เครื่องช่วยหายขณะนอนหลับตรงที่ใช้งานง่าย พกพาสะดวก และสามารถใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด และการใส่เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับได้

ประเภทของฟันยางแก้กรน

ฟันยางที่ใช้รักษาอาการนอนกรนในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยจัดตำแหน่งของลิ้น (Tongue retaining appliance) และเครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Mandibular repositioning appliances) โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้

  • เครื่องมือในช่องปากชนิดเฉพาะบุคคล (Mandibular advancement device) : หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ MADs” ได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถช่วยเลื่อนขากรรไกรล่างและลิ้นไปทางด้านหน้าเพื่อเพิ่มช่องทางอากาศหลังลิ้น และลดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อคอหอยได้
  • เครื่องมือในช่องปากกึ่งสำเร็จรูป ชนิดปรับได้ (Titratable thermoplastic oral appliance) : สามารถช่วยเพิ่มช่องทางเดินหายใจส่วนบน และลดการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เช่นกัน แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า และใช้เวลาปรับแต่งไม่นาน

ข้อควรปฏิบัติระหว่างใช้ฟันยางแก้กรน

  • การใส่ฟันยางเพื่อรักษาอาการนอนกรนจะต้องทำภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ และต้องตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อหาสาเหตุของอาการนอนกรนก่อน
  • การใส่ฟันอย่างอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น การสบฟันผิดปกติ, ปวดฟัน, เจ็บบริเวณใส่เครื่องครอบฟัน, รู้สึกไม่สบายบริเวณข้อต่อกระดูกขากรรไกร พูดไม่สะดวก และน้ำลายออกมากผิดปกติ ซึ่งสามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสมกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้ได้
  • เนื่องจากการใส่ฟันยางติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดการสบฟันผิดปกติ ฟันเคลื่อน หรือข้อต่อกระดูกขากรรไกร จึงควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทันตแพทย์จะช่วยแก้ไขอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

ข้อหลีกเลี่ยงในการใช้การฟันยางแก้กรน

การใส่ฟันยางเพื่อแก้อาการนอนกรนไม่สามารถใช้รักษาในกลุ่มคนเหล่านี้ได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ได้แก่

  • ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีสาเหตุมาจากสมองไม่ส่งสัญญาณมาสั่งกล้ามเนื้อสำหรับหายใจให้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “Central sleep Apnea”
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
  • ผู้ที่ไม่มีฟัน, ใส่ฟันปลอม, กำลังจัดฟัน, ระบบภายในช่องปากผิดปกติ หรือเป็นโรคเหงือกรุนแรง
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorders) หรือ “TMD”
  • ผู้ที่มีประวัติขากรรไกร หรือกรามค้าง หรือมีอาการเจ็บปวดบริเวณขากรรไกรและข้อต่อ
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ฟันยางแก้กรน เป็นเครื่องมือทันตกรรมที่สามารถช่วยรักษาอาการนอนกรนระดับเล็กน้อยถึงปานกลางให้ดีขึ้นได้ หากคุณมีอาการนอนกรนขณะนอนหลับ แล้วไม่อยากทำการรักษาด้วยการใส่เครื่องหายใจขณะนอนหลับ หรือผ่าตัดระบบทางเดินหายใจ สามารถปรึกษาทันตแพทย์และลองรักษาด้วยการใส่ฟันยางดูก่อนได้ อาจช่วยแก้นอนกรนได้โดยที่ไม่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งศูนย์ทันตกรรมทันตกิจเรามีบริการเครื่องมือทางทันตกรรม (Oral Appliance) ที่ช่วยรักษาอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับโดยเฉพาะ ดูแลโดยทันตแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการรักษาอาการนอนกรนด้วยฟันยาง พร้อมดูแลทุกเคสด้วยความใส่ใจ

ทำนัดหมาย Make an appointment