เกลารากฟันคืออะไร ทำความเข้าใจการดูแลช่องปากให้ห่างไกลโรคเหงือก

โดยปกติแล้วคลินิกทันตกรรมจะแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพภายในช่องปากและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการสะสมของคราบแบคทีเรีย และหินปูนที่ขยายตัวลงไปยังบริเวณรากฟันที่อยู่ใต้เหงือก จนทำให้เหงือกไม่สามารถอยู่ติดกับฟันโดยตรงได้ จนลุกลามกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ที่ใช้การขูดหินปูนทั่วไปในการรักษาไม่ได้ ต้องทำความสะอาดผิวฟันลงลึกไปยังร่องเหงือกเพื่อขจัดปัญหาด้วยการ “เกลารากฟัน”

การเกลารากฟันคืออะไร

การเกลารากฟัน (Root planing) คือ การทำความสะอาดฟันแบบล้ำลึก โดยการทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณรากฟันที่มักมีคาบหินปูนและจุลินทรีย์สะสมอยู่

การเกลารากฟันช่วยเรื่องอะไรบ้าง

ทันตแพทย์นิยมใช้การเกลารากฟันในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาในช่องปากแบบเรื้อรัง เพราะหินปูนที่ซ่อนอยู่ใต้เหงือก สามารถก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ จนกลายเป็นโรคปริทันต์ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

เกลารากฟันต่างจากการขูดหินปูนอย่างไร

การเกลารากฟันต่างจากการขูดหินปูนตรงที่ การขูดหินปูนจะขูดเอาหินปูนที่เกาะอยู่บนพื้นผิวที่ขอบเหงือกด้านนอก ซึ่งเป็นจุดที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่การเกลารากฟัน คือ การขจัดหินปูนที่อยู่ภายใต้เหงือกซึ่งเป็นจุดที่เรามองไม่เห็น โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือทำการเกลารากฟันจากบริเวณขอบเหงือกลงไปราวๆ 3 มิลลิเมตร ซึ่งการเกลารากฟันต้องใช้ระยะเวลาในการทำ และอาจต้องมีการฉีดยาชาร่วมด้วย จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการขูดหินปูนนั่นเอง

วิธีการเกลารากฟันที่นิยมในปัจจุบัน

การเกลารากฟันไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเปิดเหงือก ยกเว้นในกรณีที่มีระดับการลุกลามของโรคปริทันต์ชนิดรุนแรงจริงๆ

แนวทางการดูแลรักษาหลักจากเกลารากฟัน

  1. หลังจากเกลารากฟัน คนไข้จะมีอาการเสียวฟันอยู่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ก่อนจะหายไปเอง ดังนั้นก่อนและหลังการเกลารากฟัน คนไข้ควรเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน และงดใช้ยาสีฟันกลุ่ม Whitening หรือมีสรรพคุณทำให้ฟันขาว เพราะจะทำให้มีอาการเสียวฟันมากขึ้น
  2. อาการเลือดซึมออกมาที่ขอบเหงือก และอาการบวมหลังจากเกลารากฟันเป็นอาการปกติ และในคนไข้ที่เกลารากฟันเพื่อรักษาโรคปริทันต์อักเสบ อาจพบว่ามีเลือดซึมในวันแรก ให้กัดผ้าก็อซและบ้วนน้ำเกลือหลังเกลาฟัน
  3. หลังเกลารากฟัน สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ แต่ช่วงแรกแนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ไม่ร้อน ไม่เย็น เพราะอาจมีอาการบวมของเหงือก หรือมีอาการเสียวฟัน
  4. แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดการเกิดหินปูนให้น้อยที่สุด
  5. ทันตแพทย์จะจัดมาตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยทุก 3 – 6 เดือน เพื่อติดตามผลและตรวจสอบสุขภาพในช่องปาก ควรมาพบทันตแพทย์ตามนัด เพราะหินปูนอาจเกิดขึ้นได้ แม้เราจะพยายามรักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจทำเพียงแค่ขูดหินปูนเท่านั้น

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ดูแลให้ดี

คนไข้ที่เข้ารับการเกลารากฟันมักเป็นผู้ที่มีปัญหาโรคปริทันต์อยู่ก่อนแล้ว หากหลังจากการเกลารากฟันแล้ว แต่ไม่ดูแลให้ดี อาจพบผลข้างเคียงดังนี้

  • หากไม่ใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน หรือใช้ยาสีฟันในกลุ่ม Whitening หรือมีสรรพคุณทำให้ฟันขาว คนไข้จะมีอาการเสียวฟันมากขึ้นหรือยาวนานขึ้น
  • หากไม่ดูแลความสะอาดในช่องปาก อาจเกิดคราบหินปูนเพิ่มขึ้น จนอาจต้องทำการขูดหินปูน หรือเกลารากฟันเพิ่ม
  • อาการของโรคปริทันต์อักเสบ อาจไม่หายขาด

 

การเกลารากฟันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก แต่หินปูนและคราบแบคทีเรียสะสมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน หากเราทำความสะอาดอย่างใส่ใจ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จึงเป็นวิธีการป้องกันและดูแลสุขภาพในช่องปากที่ดีที่สุด

ทำนัดหมาย Make an appointment