“ฟันผุทะลุโพรงประสาท” เป็นหนึ่งในอาการฟันผุรุนแรงที่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดการติดเชื้อเนื้อเยื่อในโพรงฟันได้ ซึ่งการติดเชื้ออาจลุกลามไปจนถึงปลายรากฟัน ทำให้ต้องถอนฟันออก และส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ทำให้เกิดโพรงจมูกอักเสบ หรือตาอักเสบตามมาได้
สำหรับใครที่มีอาการปวดฟันอยู่ แล้วไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นฟันผุถึงโพรงประสาทฟันหรือเปล่า ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับอาการฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทอย่างละเอียด มีสาเหตุจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไร และต้องรักษาด้วยวิธีไหน หาคำตอบได้ที่บทความนี้เลย
Page Contents
ฟันผุทะลุโพรงประสาทเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจว่าฟันผุถึงโพรงประสาทฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของโรคฟันผุก่อน เนื่องจากอาการฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทเป็นอาการระยะท้าย ๆ ของโรคฟันผุ
โรคฟันผุนั้น เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากสร้างกรดขึ้นมาย่อยเศษอาหารต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่บริเวณตามซอกฟันจากการที่เรารับประทานอาหาร รวมถึงแปรงฟันไม่สะอาด หรือไม่ใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งกรดเหล่านี้จะไปทำลายแร่ธาตุ (Demineralize) ของโครงสร้างฟัน จนทำให้ผิวฟันเป็นรู และค่อย ๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดฟันผุ
อาการโรคฟันผุในระยะแรกจะไม่ค่อยมีอาการแสดงอะไร จึงทำให้หลายคนไม่รู้ตัว แต่เมื่อฟันผุลุกลามไปจนถึงเนื้อฟันก็จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันตามมา หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาด้วยการอุดฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ อาการฟันผุนี้ก็จะค่อย ๆ ผุลึกลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทะลุไปถึงโพรงประสาทฟันนั่นเอง
ลักษณะอาการฟันผุทะลุโพรงประสาท
- ในกรณีที่ยังไม่มีการติดเชื้อ : จะมีอาการปวดเมื่อรับประทานของร้อน ของเย็น หรือมีเศษอาหารมาอุดในรูฟัน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- ในกรณีที่มีการอักเสบ หรือติดเชื้อร่วมด้วย : จะทำให้มีอาการปวดฟันมากโดยที่ไม่ต้องมีสิ่งใดมากระตุ้น และมักมีอาการในเวลากลางคืน
ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน อันตรายไหม?
อาการฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟัน เป็นอาการฟันผุที่รุนแรง ควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้จนเนื้อเยื่อในโพรงฟันเกิดการติดเชื้อและอักเสบ เนื้อเยื่อเหล่านี้อาจเน่าและตายได้ หลังจากนั้นเชื้อจะลุกลามไปที่ปลายรากฟัน ทำให้รากฟันอักเสบ เกิดฝีเกิดหนองตามมา รวมถึงลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ แล้วทำให้เกิดการอักเสบตาม ๆ กัน เช่น โพรงจมูกอักเสบ หรือตาอักเสบด้วย
อาการฟันผุทะลุโพรงประสาทรักษาอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด
วิธีการรักษาฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการฟันผุ และการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน หากติดเชื้อไม่รุนแรงมาก ทันตแพทย์อาจสามารถรักษาให้เสร็จภายในครั้งเดียวได้เลย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากติดเชื้อรุนแรงจนถึงรากฟัน ทันตแพทย์ก็จำเป็นที่จะต้องรักษารากฟันร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องทำการรักษา 2 – 3 ครั้ง
สำหรับขั้นตอนการรักษาฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันนั้น ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
1. ทำการรักษาส่วนที่ติดเชื้อ
เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากกำจัดส่วนที่ติดเชื้อออกไม่หมด แล้วทำการอุดฟันก็จะยิ่งทำให้มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยทันตแพทย์จะทำการกรอฟันส่วนที่ผุออกให้หมด และกรอฟันเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน เพื่อที่จะได้ทำการตัดเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อออก ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อไปถึงรากฟันก็จะต้องขูดเอาเส้นประสาทฟันที่มีอาการติดเชื้อและอักเสบออกให้หมดด้วย
2. ทำการอุดคลองรากฟัน
หลังจากกำจัดส่วนที่ติดเชื้อออกหมดแล้ว ทันตแพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างคลองรากฟัน แล้วทำการอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคเข้ามาอีก ในขั้นตอนนี้อาจใช้ระยะเวลารักษา 2 – 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ
3. ทำการปักเดือย และครอบฟัน
ฟันที่มีการผุลึกมาก ๆ จนไปถึงโพรงประสาทฟัน หลังจากที่ทำการรักษาส่วนที่ติดเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว มักจะเหลือเนื้อฟันน้อย ซึ่งส่งผลให้ฟันไม่แข็งแรง และมีโอกาสเกิดการแตกหักได้ง่ายในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องทำครอบฟัน (Crown) สวมทับลงไปในฟัน ซึ่งวัสดุครอบฟันมีทั้งแบบโลหะ หรือเซรามิกทั้งชิ้น หรือเซรามิกรองพื้นด้วยโลหะ
สำหรับการจะทำครอบฟันนั้น ทันตแพทย์จะทำการปักเดือยฟัน (Post) ลงไปก่อน เพื่อใช้เป็นตัวยึดแกนฟันสำหรับทำครอบฟัน หลังจากนั้นจึงค่อยพิมพ์ปากเพื่อทำครอบฟันสำหรับฟันซี่นั้น ๆ โดยเฉพาะ แล้วค่อยทำครอบฟันตัวจริงใส่ลงไปอีกทีนั่นเอง
สิ่งต้องรู้ก่อนเข้ารับการรักษาฟันผุทะลุโพรงประสาท
ในบางรายอาจมีอาการฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันรุนแรงจนไม่สามารถทำการรักษาได้ และจำเป็นที่จะต้องถอนฟันซี่นั้น ๆ ออก ซึ่งในกรณีจะทำให้จำเป็นต้องทำการรักษาขั้นตอนอื่น ๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น การทำฟันปลอมแบบติดแน่น หรือรากฟันเทียมทดแทนฟันที่ขาดหายไป เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันซี่ข้าง ๆ ล้มลงเข้าหาช่องว่าง ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการบดเคี้ยว หรือปัญหาข้อต่อขากรรไกรในระยะยาวได้
จะเห็นได้ว่า ฟันผุทะลุโพรงประสาทสามารถทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมาได้อย่างมากมาย และมีขั้นตอนการรักษาที่ยุ่งยาก หากใครที่มีอาการปวดฟัน อาการเสียวฟัน ก็ควรที่จะเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน นอกจากนี้ทุกคนควรที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปาก รวมถึงขูดหินปูนเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันต่าง ๆ ทำให้ให้รู้ถึงสุขภาพฟันของตนเอง และสามารถรับมือกับโรคฟันผุตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้