น้ำลายเหนียว สัญญาณเตือนสุขภาพที่ไม่ควรละเลย

น้ำลาย (Saliva) เป็นสารคัดหลั่งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปากและระบบย่อยอาหารมาก เช่น ช่วยรักษาความชุ่มชื้น ปกป้องเนื้อเยื่ออ่อน คงสภาพความเป็นกรด – ด่าง เพิ่มการรับรู้รสชาติอาหาร ดักจับเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ หรือช่วยย่อยอาหารบางชนิด หากน้ำลายมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำลายเหนียว หรือน้ำลายเยอะผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังมีปัญหาสุขภาพร่างกายได้

น้ำลายเหนียว แก้ยังไง

แบบไหนถึงเรียกว่า “น้ำลายเหนียว”

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า น้ำลายเหนียวเกิดจากการไม่ได้ดื่มน้ำ หรือพูดมากเกินไป แต่จริง ๆ น้ำลายเหนียวเกิดจากต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงในช่องปาก และมักมีอาการร่วมกับปากแห้ง คอแห้ง เจ็บคอ และมีกลิ่นปาก

สำหรับใครที่มีปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยเกินไป ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะน้ำลายมีส่วนสำคัญในการลดการยึดเกาะและการเจริญโตของเชื้อแบคทีเรียบนผิวเคลือบฟัน การที่เรามีน้ำลายน้อยเกินไปก็จะส่งผลให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

น้ำลายเหนียว เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

สาเหตุที่ทำให้น้ำลายเหนียว มีดังนี้

  • ภาวะขาดน้ำ : เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ ทำให้มีระดับของเหลวในร่างกายต่ำกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่องการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงทำให้ปากแห้ง น้ำลายน้อย กระหายน้ำ อ่อนเพลีย และรู้สึกเวียนศีรษะด้วย
  • เสมหะในลำคอ : จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ หรือโรคไซนัสอักเสบ ทำให้ร่างกายผลิตน้ำมูกมากขึ้น แล้วไหลไปรวมกับเสมหะและน้ำลายจนทำให้เหนียว
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด : อาจส่งผลให้ผลิตน้ำลายได้น้อยลงจนทำให้เหนียวและปากแห้งได้ เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ยารักษาความดันโลหิต ยาต้านเศร้า ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาเคมีบำบัด เป็นต้น
  • ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติจากภาวะต่าง ๆ : เช่น ปากแห้งเรื้อรัง โรคต่อมน้ำลายอุดตันจากหินปูนในท่อน้ำลาย โรคมะเร็ง หรือกลุ่มอาการโจไมเกรน (Sjogren’s Syndrome) เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการรับรังสีรักษา หรือฉายแสง : เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปากแห้ง แสบลิ้น และน้ำลายเหนียวข้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะการฉายแสงบริเวณช่องปากและลำคอ

วิธีลดอาการน้ำลายเหนียว

ในกรณีที่เป็นผลข้างเคียงจากการรักษา หรือใช้ยาบางชนิด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาเกี่ยวกับวิธีการรับมือที่เหมาะสม หรือปรับวิธีรักษาให้เหมาะสมกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดจากการสาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะขาดน้ำ หรือโรคภูมิแพ้ การดูแลร่างกายตัวเองให้เหมาะสม ร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไปนี้จะช่วยให้บรรเทาอาการปากแห้ง และน้ำลายเหนียวได้ เช่น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยควรจิบน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน แทนการดื่มคราวเดียวในปริมาณมาก ๆ
  • งดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หรือกาแฟ เพราะจะทำให้น้ำลายมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น
  • งดรับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด หวานจัด เค็มจัด หรือเปรี้ยวจัด
  • ทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างเหมาะสม โดยใช้ขนแปรงฟันที่อ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยทุกครั้ง
  • เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย
  • ใช้น้ำลายเทียม (Artificial Saliva) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำลาย

ลักษณะน้ำลายอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพ

นอกจากน้ำลายที่เหนียวหนืดแล้ว ยังมีน้ำลายลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้ มีดังนี้

น้ำลายเยอะกว่าปกติ

น้ำลายเยอะกว่าปกติ มักมาพร้อมกับอาการระคายคอ มีเสมหะ ได้กลิ่นเปรี้ยวหรือรสขมของน้ำดี เรอบ่อย และมีกลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน

น้ำลายแห้ง

น้ำลายแห้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำลายไม่สามารถไหลผ่านท่อน้ำลายได้อย่างสะดวก หรือเป็นนิ่วต่อมทอนซิล ซึ่งมักจะมีอาการระคายคอ รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา เจ็บคอ และไอเรื้อรังร่วมด้วย

น้ำลายเยอะ

จะเห็นได้ว่า ลักษณะของน้ำลายสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ด้วยเหตุนี้เราจึงควรหมั่นสังเกตน้ำลายของตัวเองอยู่เสมอ หากพบว่า มีอาการน้ำลายเหนียว น้ำลายเยอะผิดปกติ หรือน้ำลายแห้ง ก็ควรรีบหาสาเหตุ และรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะโรคในช่องปากอย่างโรคฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบ

ทำนัดหมาย Make an appointment