เคยสงสัยไหมว่า ก้อนทอนซิล หรือก้อนเหลือง ๆ ในคอเกิดจากอะไร และส่งผลอันตรายต่อร่างกายไหม สำหรับใครที่มีก้อนนิ่วเหล่านี้อยู่ ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจ (Thantakit) จะพาไปทำความรู้จักกับ นิ่วทอนซิล ทั้งสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกันอย่างถูกต้อง เพื่อการมีสุขภาพฟันและช่องปากที่ดีของทุกคน
Page Contents
รู้จักกับต่อมทอนซิล
ก่อนที่จะไปรู้จักสาเหตุและอาการของ นิ่วทอนซิล เราควรที่จะมาทำความรู้จักกับต่อมทอนซิล (Tonsil) กันก่อน โดยต่อมทอนซิล คือ ต่อมน้ำเหลืองสองต่อมที่อยู่บริเวณซ้ายและขวาในช่องคอ จัดเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่หลุดเข้ามาในลำคอ เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา
ตำแหน่งของต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิลจะมีอยู่ 3 ตำแหน่งหลัก ๆ ได้แก่
- ต่อมทอนซิลที่อยู่ด้านข้างของช่องปาก เรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (Palatine tonsil)
- ต่อมทอนซิลที่โคนลิ้น เรียกว่า ลิงกวลทอนซิล (Lingual tonsil)
- ต่อมทอนซิลที่ช่องหลังโพรงจมูก เรียกว่า อดีนอยด์ทอนซิล (Adenoid tonsil)
นิ่วทอนซิล คืออะไร?
นิ่วทอนซิล (Tonsil Stones) คือ ก้อนสีขาวเหลืองขุ่น ๆ ขนาดประมาณเมล็ดข้าว หรือเมล็ดถั่ว ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเศษอาหาร แบคทีเรีย หรือเซลล์ที่ตายแล้ว เข้าไปติดอยู่ตามซอกหลืบและเกิดการอุดตันที่บริเวณท่อของต่อมทอนซิลจนทำให้เกิดก้อนทอนซิลตามมา
ลักษณะอาการของนิ่วทอนซิล
นิ่วทอนซิลสามารถทำให้เกิดอาการในช่องปาก ดังนี้
- รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลำคอตลอดเวลา
- เวลารับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ จะรู้สึกเหมือนติดคอ
- มีกลิ่นปาก
- มีการระคายเคืองที่ลำคอ รู้สึกเจ็บคอ และไอเรื้อรัง
- มีอาการปวดร้าวไปที่หู
- การรับรสชาติอาหารผิดปกติ
- หากมีอาการอักเสบจากการติดเชื้อ หรือนิ่วทอนซิลจับตัวแข็งเป็นก้อน จะทำให้มีขนาดใหญ่และบวมขึ้น
ใครเสี่ยงที่จะเป็น นิ่วทอนซิล
ก้อนทอนซิล หรือนิ่วทอนซิล สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย แต่จะพบมากในช่วงวัยรุ่น
ก้อนทอนซิลที่เกิดขึ้นอันตรายไหม?
ก้อนเหลือง ๆ ในคอเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียและเซลล์ที่ตายนี้ ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะทำให้มีกลิ่นปาก และรู้สึกระคายเคือง หรือมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดก้อนทอนซิลขึ้น ก็ควรที่จะรีบรักษาให้หาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ตามมาได้
แนวทางการรักษา นิ่วทอนซิล
การรักษานิ่วทอนซิลสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์และระดับความรุนแรงของก้อนทอนซิลที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีที่มีนิ้ว หรือก้อนทอนซิลขนาดเล็ก สามารถบ้วนคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ หรือใช้สำลีเขี่ยออกได้ แต่ถ้ามีขนาดปานกลางถึงใหญ่ อาจต้องใช้เครื่องพ่นน้ำสำหรับช่องปากฉีดออก หรือผ่าตัดต่อมทอนซิลด้วยเลเซอร์ เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ้วออกไป
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดนิ่ว หรือก้อนทอนซิล
การป้องกันไม่ให้เศษอาหารไปตกค้างอยู่ที่ต่อมทอนซิลจนเกิดก้อน หรือนิ่วตามมาเป็นเรื่องยาก เพราะต่อมทอนซิลจะมีซอกหลืบอยู่ แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบที่ลำคอได้ โดยการดูแลรักษาฟันและช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
- ทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างถูกวิธี โดยการเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- หมั่นกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดการก่อตัวของก้อนนิ่ว
- ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อน ซึ่งจะกระตุ้นให้ลำคอเกิดการอักเสบได้
- หากมีความผิดปกติที่ต่อมทอนซิล ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
จะเห็นได้ว่า ก้อนนิ่วในลำคอสามารถทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในช่องปากได้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นปาก เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา การดูแลรักษาก้อนทอนซิลที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด นิ่วทอนซิล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อการมีสุขภาพฟันและช่องปากที่ดีในระยะยาว