Page Contents
ทำอย่างไรเมื่อฟันกรามแตก
หากคุณมีอาการปวดฟันกรามขณะเคี้ยวอาหาร ปวดเป็นพักๆ หรือเป็นๆ หายๆ, มีอาการเสียวฟันเมื่อทานของร้อนของเย็นหรือของรสหวาน เหงือกบวม มีกลิ่นปาก นั่นเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการฟันกรามผุหรือร้าว ที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันกรามแตกได้ เพราะฟันกรามเป็นซี่ฟันที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากที่สุด หากฟันกรามของเราผุหรือมีอาการร้าวจะนำไปสู่การแตกหักของฟัน และอาจลุกลามไปยังโพรงประสาทฟันและติดเชื้อไปยังส่วนอื่นอาทิ ช่องคอ ใต้ลิ้น หรือแม้แต่ช่องอก ดังนั้นปัญหาฟันกรามแตกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ฟันกรามแตกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ฟันกรามแตกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการใช้ฟันกรามบดเคี้ยวอาหารหรือของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ถั่ว ลูกอม ฯลฯ จนทำให้ฟันเกิดการร้าวและนำไปสู่การแตกหัก, การใช้ฟันกัด งัด ของแข็ง, ฟันผุ, การนอนกัดฟัน, ประสบอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อฟัน หรือแม้กระทั่งความแข็งแรงของกระดูกและฟันที่ลดลงตามอายุ ก็เป็นสาเหตุการแตกของฟันกรามได้ทั้งสิ้น
สังเกตได้อย่างไรว่าฟันกรามแตกหรือผุ
- สังเกตอาการเสียวฟัน หรืออาการเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นตอนรับประทานอาหาร
- สังเกตรอยแตกเล็กๆ ที่อยู่บนผิวฟันหรือ เคลือบฟันด้านนอก ซึ่งอาจเป็นเพียงรอยร้าว ที่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่การแตกหักของฟันได้
- สังเกตเหงือกจะมีอาการบวมแดงในจุดที่ฟันแตก
- พบเศษฟันหรือสิ่งแปลกปลอมในปาก หากเป็นชิ้นส่วนฟันแนะนำให้เก็บแช่ไว้ในน้ำนมหรือน้ำลายเอาไว้ เพื่อยืดอายุของเนื้อฟัน แล้วรีบพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด
ทำอย่างไรเมื่อพบกว่าฟันกรามผุแตก
แนะนำให้พบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรม โดยเร็วที่สุด เพราะทันตแพทย์จะได้ตรวจสอบรอยแตกหรือรอยร้าวและทำการซ่อมแซมหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนความเสียหายจะลุกลามไปมากกว่านี้
ลักษณะความรุนแรงของอาการฟันกรามแตก
ระดับความรุนแรงของอาการฟันกรามแตกจะขึ้นอยู่กับความเสียหายของชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน
- ลักษณะที่ 1 รอยแตกที่ผิวเคลือบฟัน มักเป็นรอยตื้นๆ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ใช้การกรอหรือขัดเงาผิวฟันก็แก้ไขได้เรียบร้อย
- ลักษณะที่ 2 รอยแตกเป็นรู หรือเคยมีการอุดฟัน ฟันกรามที่ผุ แตกเป็นรู หรือ ฟันที่มีรอยอุดฟันขนาดใหญ่ ความแข็งแรงของฟันโดยรวมจะลดลง ซึ่งไม่ส่งผลต่อเส้นประสาทฟันหรือเนื้อเยื่อฟัน สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันใหม่
- ลักษณะที่ 3 ฟันแตกและมีรอยร้าว ฟันกรามมีรอยแตกหรือรอยร้าวเกิดขึ้นแต่ยังไม่ถึงบริเวณเหงือก ยังสามารถแก้ไขและรักษาฟันเอาไว้ได้
- ลักษณะที่ 4 ฟันแตกออกเป็นสองส่วน ในกรณีที่ฟันกรามมีรอยแตกขนาดใหญ่จากด้านบนยาวไปจนถึงด้านล่างของแนวเหงือก อาจรักษาฟันไว้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการแตก
- ลักษณะที่ 5 ฟันกรามแตกแนวตั้ง รอยแตกของฟันเริ่มจากใต้เหงือกขึ้นไปยังด้านบน โดยปกติจะไม่แสดงอาการให้เห็นมากนัก แต่เป็นลักษณะการแตกที่อันตรายมากเพราะมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้มากที่สุด วิธีการแก้ไขคือต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป
แนวทางการรักษาเมื่อเกิดอาการฟันกรามแตก
- กรอฟัน เหมาะกับฟันที่แตกร้าวบริเวณเคลือบฟันเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือในการกรอฟัน ขัดลดความคมของฟันเพื่อแก้ไขปัญหา
- อุดฟัน ในกรณีที่ฟันกรามผุแตกเป็นรู สามารถใช้วัสดุอุดฟันในการอุดรูดังกล่าว ให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติและป้องกันไม่ให้ฟันกรามผุแตกมากขึ้นกว่าเดิม
- ครอบฟัน หากฟันกรามมีรอยแตกขนาดใหญ่ เนื้อฟันเสียหายไปบางส่วน ทันตแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการครอบฟัน เพื่อรักษาเนื้อฟันเอาไว้ และสามารถใช้งานฟันได้ตามปกติ
- ถอนฟัน หากฟันกรามแตกหักเสียหายรุนแรงไม่สามารถรักษาเนื้อฟันไว้ได้ การถอนจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังฟันและส่วนอื่นๆ
วิธีป้องกันฟันกรามแตกและผุ
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆ อาทิ น้ำแข็ง ลูกอม กระดูก ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกับของแข็งที่อาจทำให้ฟันแตกหรือบิ่น
- หากมีปัญหานอนกัดฟัน หรือเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระทั่งรุนแรง ให้ป้องกันฟันของคุณด้วยการใส่ฟันยาง
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการเสื่อมสลายของกระดูก
- ดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
ฟันกรามผุแตก อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การที่เราหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมอยู่เสมอ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสและความรุนแรงหากเกิดปัญหาฟันกรามผุแตกได้อย่างแน่นอน