รักษาภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMD, TMJ)
ภาวะความผิดปกติและอักเสบของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorder)
ทำความรู้จักกับภาวะความผิดปกติหรืออักเสบของข้อต่อขากรรไกร หรือ TMJ คืออะไร
ข้อต่อขากรรไกร หรือ Temporomandibular joint (TMJ) คือข้อต่อเชื่อมต่อขากรรไกรล่างกับฐานของกระโหลกศีรษะ ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร หรือ Temporomandibular joint Disorder (TMD) จะสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทั้งบริเวณข้อต่อขากรรไกรและ/หรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องได้จากการอักเสบของขากรรไกร สาเหตุของภาวะ TMD นั้นมักจะคลุมเครือหรือหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ยาก เนื่องจากอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรอาจส่งผลมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น กรรมพันธุ์ ภาวะข้อเสื่อม การได้รับอุบัติเหตุบริเวณขากรรไกร หรือมีการกัดเค้นฟันทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดกับข้อต่อขากรรไกรที่จะต้องรับแรงมากขึ้น เป็นความโชคดีที่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่มีอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับ TMD มักเป็นเพียงชั่วคราว และหายได้ด้วยการรักษาแบบประคับประคอง ปรับพฤติกรรมตนเอง หรือทำการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด แต่กระนั้นแล้วในคนไข้บางส่วนที่มีอาการเรื้อรังหรือการรักษาด้วยวิธีประคับประคองไม่ได้ผลก็อาจจะต้องทำการรักษาแบบผ่าตัด
อาการของภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรอักเสบ
-
- ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร (หน้าหู) หรือบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยว
- อ้า หรือหุบปากได้จำกัด (มีการจำกัดการความเคลื่อนไหวของขากรรไกร)
- เวลาเคลื่อนไหว ขากรรไกร แล้วมีเสียงผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก หรือ เสียงกรุบกรับ
- อ้า หุบปาก และคลื่อนไหว แล้วมีอาการเจ็บหรือปวดขากรรไกร
- เคี้ยวอาหารลำบากหรือมีอาการเจ็บเวลาเคี้ยว
- ขากรรไกรค้าง (ไม่สามารถอ้าปากได้ หรือ อ้าปากแล้วไม่สามารถหุบได้)
- มีภาวะติดขัดของข้อต่อขากรรไกร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งอ้าปากหรือปิดปากไม่ได้ก็ได้
- ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการปวดบริเวณใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่งก็ได้
- อาการปวดศรีษะ (มักจะถูกคิดว่าเป็นอาการของไมเกรน) อาการปวดหู และอาการปวดบริเวณหลังตา
สาเหตุของภาวะความผิดปกติหรืออักเสบของข้อต่อขากรรไกร
การเคลื่อนที่ของข้อต่อกระดูกขากรรไกรนั้นจะเป็นแบบบานพับร่วมกับการเลื่อน ส่วนที่สัมผัสกันของกระดูกจะถูกปกคลุมด้วยกระดูกอ่อนซึ่งจะแย่งกันด้วยแผ่นหมอนรองกระดูกซึ่งทำหน้าที่ให้การเคลื่อนของข้อต่อขากรรไกรลื่นไหลไม่สะดุด ดังนั้นแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บใน TMD จึงอาจเกิดได้จาก
1. ตัวแผ่นหมอนรองกระดูกมีการสึกกร่อน หรือเคลื่อนตัวออกนอกตำแหน่ง
2. กระดูกอ่อนของข้อต่อถูกทำลายจากภาวะข้อเสื่อม
3. ข้อต่อถูกกระทบกระเทือนจากปัจจัยภายนอก
แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนมากแล้วสาเหตุของ TMD ก็ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ทราบสาเหตุแน่แน่ชัด
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ TMD
-
- โรคที่ทำให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อ เช่น Rheumatoid arthritis, Osteoarthritis
- การได้รับบาดเจ็บที่กระดูกขากรรไกร
- การมีภาวะกัดเค้นฟันแบบเรื้อรัง
- ภาวะโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิดซึ่งส่งผลต่อข้อต่อขากรรไกร
การวินิจฉัยภาวะความผิดปกติหรืออักเสบของข้อต่อขากรรไกร
ทันตแพทย์จะทำการตรวจโดยการพูดคุย ซักถามอาการ และตรวจอาการอักเสบหรือปวดข้อต่อขากรรไกร โดยการฟังและคลำข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าปากและปิดปากของผู้ป่วย อีกทั้งยังตรวจการเคลื่อนที่ของข้อต่อขากรรไกรว่าอยู่ในระยะปกติหรือไม่ ร่วมกับการกดบริเวณรอบๆ ข้อต่อขากรรไกรเพื่อหาจุดที่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดบริเวณขากรรไกร และอาจมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเช่น
-
- การถ่ายภาพรังสีบริเวณช่องปากและขากรรไกรเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวด
- การถ่ายภาพรังสี 3 มิติ เพื่อตรวจสภาพของกระดูกบริเวณข้อต่อขากรรไกร
- การตรวจแผ่นหมอนรองกระดูกข้อต่อขากรรไกรและเนื้อเยื่อรอบข้อต่อด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- บางครั้งการวินิจฉัยอาจมีความยุ่งยากซับซ้อน แพทย์จึงอาจใช้วิธีการส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปในข้อต่อเพื่อเข้าไปสำรวจภายในข้อต่อขากรรไกรโดยตรง เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
การรักษาภาวะความผิดปกติหรืออักเสบของข้อต่อขากรรไกร
-
- รับประทานยาลดการอักเสบที่ขากรรไกร และบรรเทาอาการปวด พวก nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs), paracetamol, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาคลายกังวล (ซึ่งจะช่วยลดภาวะการทำงานมากผิดปกติของกล้ามเนื้อรอบๆข้อต่อขากรรไกร)
- แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก, ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง หรืออาหารที่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น อ้อยโดยเฉพาะข้างที่เจ็บ
- อาจใช้น้ำอุ่นประคบ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ขากรรไกรที่อักเสบ
- ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบการสบฟัน ว่ามีการสบฟันที่ผิดปกติ (malocclusion) ที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวของขากรรไกรที่ไม่สมดุลกัน ทำให้ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรหรือไม่
- ถ้ามีอาการปวดขากรรไกรมาก ทันตแพทย์ อาจพิจารณาใส่ที่ครอบฟัน (bite appliance or splints) เพื่อทำให้การสบฟันคงที่ ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อขากรรไกรที่เป็นปัญหา ช่วยลดอาการปวดได้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกัดฟัน (bruxism)
- ถ้าผู้ป่วยดีขึ้น อาจทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมลดความเครียด
- ถ้าให้การรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น ยังมีอาการปวดขากรรไกรค่อนข้างรุนแรง หรือมีความผิดปกติภายในของข้อต่อขากรรไกร อาจพิจารณาผ่าตัดรักษา
ข้อปฏิบัติตัวเมื่อมีปัญหา TMD
-
- ระมัดระวังการทำนิสัยหรือพฤติกรรมที่เพิ่มแรงเค้นให้ข้อต่อขากรรไกร เช่น การเค้นฟัน กัดของแข็ง
- ทานอาหารอ่อน ตัดอาหารเป็นชิ้นเล็กเพื่อให้เคี้ยวได้ง่าย หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
- ยืดกล้ามเนื้อ และการนวด ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะสอนวิธีการบริหารยืด/นวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
- ประคบร้อน/เย็น ตามที่แพทย์แนะนำ
ทันตแพทย์เฉพาะทางด้าน TMD
อ.ทพญ.ณัฐกานต์ ฮ้อศิริลักษณ์
Dental Occlusion, Temporomandibular disorders
Education
- 2019: Ph.D. (Dental Science: Oral Biology), Health Science University of Hokkaido, Japan
- 2014: Higher Grad. Dip. (Masticatory Science), Faculty of Dentistry, Mahidol University
- 2013: Doctor of Dental Surgery, Faculty of Dentistry, Srinakharinwirot University
Academic and professional background
- 2014-present: Full time faculty, Faculty of Dentistry, Mahidol University (Department of Masticatory Science)
Membership
- Thai Dental Council
- Thai Association for the study of pain