รู้ไว้ก่อนสายกับโรคหยุดหายใจขณะหลับ

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

หากคุณเป็นคนที่นอนเท่าไรก็รู้สึกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการนอนกรนดัง มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน รู้สึกอ่อนเพลีย หรือรู้สึกหงุดหงิดง่ายจนผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหยุดหายใจขณะหลับ หนึ่งในภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) คืออะไร

โรคหยุดหายใจขณะหลับ คือ ภาวะการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นบางส่วน ส่งผลให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้น้อยลง จนถึงขั้นไม่มีอากาศไหลเข้าสู่ปอดเลยเป็นเวลายาวนานถึง 10 วินาที หรือนานกว่านั้น

อาการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลงต่ำลง และระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น จนทำให้สมองตอบสนองด้วยการปลุกร่างกายให้ตื่นขึ้นมาในกลางดึก หรือทำให้มีอาการหายใจสะดุด หายใจเฮือก หรือนอนกระสับกระส่าย เพื่อให้สามารถกลับมาหายใจได้ตามปกติอีกครั้ง

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

โรคหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากสาเหตุอะไร

โรคหยุดหายใจขณะหลับเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

  1. เกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ช่องปาก และลำคอ ทำให้ทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบ ส่งผลให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้น้อยลง ร่างกายและสมองขาดออกซิเจน การทำงานของกล้ามเนื้อลดลงหรือหยุดทำงาน จนทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึก และเมื่ออาการหยุดหายขณะหลับเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จะทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว
  2. เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง เป็นสาเหตุของโรคหยุดหายใจขณะหลับที่พบได้น้อยมาก เป็นผลข้างเคียงจากโรคสมองส่วนกลาง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอก โรคสมอง หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ส่งผลให้สมองสั่งงานผิดปกติขณะนอนหลับ จนทำให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ประเภทของโรคหยุดหายใจขณะหลับ

โรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งประเภทได้ตามสาเหตุการเกิดโรค และตามกลุ่มผู้ป่วย มีรายละเอียดดังนี้

โรคหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งประเภทตามสาเหตุ

โรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งประเภทตามสาเหตุได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. โรคหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดที่เกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็น 85% จากจำนวนผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับทั้งหมด
  2. โรคหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (Central Sleep Apnea: CSA) เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับที่พบได้น้อยที่สุด คิดเป็น 0.4% จากจำนวนผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับทั้งหมด
  3. โรคหยุดหายใจขณะหลับ ประเภทผสม (Mixed Sleep Apnea) มีสาเหตุเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจร่วมกับความผิดปกติของสมองส่วนกลาง คิดเป็น 14% จากจำนวนผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับทั้งหมด

โรคหยุดหายใจขณะหลับ แบ่งประเภทตามกลุ่มผู้ป่วย

โรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งประเภทตามกลุ่มผู้ป่วย ได้ 3 กลุ่ม คือ โรคหยุดหายใจขณะหลับในคนทั่วไป โรคหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก และโรคหยุดหายใจขณะหลับในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งหมายความว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัยนั่นเอง

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

วิธีสังเกตอาการหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง

โรคหยุดหายใจขณะหลับนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน รวมถึงปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ หากคุณมีอาการที่อยู่ในกลุ่มโรคหยุดหายใจขณะหลับ 3 – 5 ข้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

อาการหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้

  • นอนกรนเสียงดังมาก และกรนดังเป็นประจำ
  • มีลักษณะการกรนแล้วหยุดเป็นพัก ๆ
  • มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ และ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
  • รู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ไม่มีสมาธิ และมีปัญหาด้านความจำ
  • รู้สึกหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดีบ่อย ๆ
  • มีความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ

แนวทางการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ

แนวทางการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และระดับความรุนแรงของอาการโรคหยุดหายใจขณะหลับ ในบางครั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจเพียงพอแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการโรคหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรงมาก โดยแพทย์อาจให้ลองปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น ให้นอนตะแคงแทนการนอนหงาย หรือให้นอนเอนตัวในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง และในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนักและออกกำลังกายเพิ่มขึ้นด้วย

รักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจขณะหลับ (CPAP)

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการโรคหยุดหายใจขณะหลับรุนแรง โดยเครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) จะส่งแรงดันอากาศผ่านรูจมูก ทำให้ทางเดินหายใจเปิดในระหว่างการนอนหลับ ป้องกันการขาดออกซิเจนขณะนอนหลับ และทำให้พักผ่อนได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

รักษาด้วยเครื่องมือทันตกรรม

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการโรคหยุดหายใจขณะหลับน้อยถึงปานกลาง โดยเครื่องมือทันตกรรมที่ใช้รักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ จะแบ่งเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  1. เครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยจัดตำแหน่งของลิ้น จะช่วยยึดลิ้นไว้ให้อยู่ในตำแหน่งด้านหน้า ไม่ให้ตกลงไปทางด้านหลังขณะนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณหลังโคนลิ้นเปิดกว้าง ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
  2. เครื่องมือทันตกรรมที่ช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง จะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน และสามารถเลื่อนขากรรไกรล่างไปทางด้านหน้าขณะนอนหลับ ซึ่งจะทำให้ลิ้นเลื่อนตำแหน่งไปทางด้านหน้าด้วย ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณหลังโคนลิ้นเปิดกว้าง ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ

สรุปอาการและวิธีรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ

โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนอย่างมาก เมื่อเป็นแล้วไม่รักษาก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะยาว หากสังเกตว่าตนเองมีอาการหยุดหายใจขณะหลับจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งที่ศูนย์ทันตกรรมทันตกิจมีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมนอนกรนโดยเฉพาะ หากคุณมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก สามารถขอรับคำปรึกษาและรักษาด้วยเครื่องมือทันตกรรมได้

ทำนัดหมาย Make an appointment